จริยธรรมในการตีพิมพ์บทความวารสาร

          วารสารวิชาการและนวัตกรรมทางสังคมศาสตร์ สำนักวารสารวิชาการ มูลนิธิแสงสีวิชาการ มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่บทความวิจัยและบทความทางวิชาการในศาสตร์มนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ การจัดการ บริหารธุรกิจ พุทธศาสนา ผลงานนวัตกรรม รัฐประศาสนศาสตร์ และศาสตร์อื่น ๆ ที่สัมพันธ์ โดยมุ่งมั่นที่จะรักษามาตรฐานคุณภาพ และมีจริยธรรมในการตีพิมพ์บทความวารสารให้ถูกต้องและสอดคล้องกับประกาศ ก.พ.อ. และจรรยาบรรณวารสารวิชาการไทยในฐานข้อมูล TCI  โดยวารสาร ได้กำหนดบทบาทและจริยธรรมในการตีพิมพ์บทความวารสารดังต่อไปนี้

  1. บทบาทหน้าที่ของบรรณาธิการ

           1.1 บรรณาธิการมีหน้าที่กำหนดให้มีการดำเนินงานวารสารวิชาการให้เป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนด พร้อมทั้งกำกับ ดูแล การจัดทำวารสารวิชาการให้เป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพที่กำหนด

          1.2 บรรณาธิการมีหน้าที่พิจารณาคุณภาพของบทความ รูปแบบ ความครบถ้วนของบทความก่อนเข้าสู่กระบวนการประเมินของผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร

         1.3 บรรณาธิการมีหน้าที่พิจารณาคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิประเมินคุณภาพบทความ โดยผู้ทรงคุณวุฒิจะพิจารณาจากความสำคัญ ความใหม่ ความชัดเจน และความสอดคล้องของเนื้อหากับนโยบายวารสารเป็นหลัก

         1.4 บรรณาธิการมีหน้าที่พิจารณา ตรวจสอบ และควบคุมคุณภาพของบทความที่ส่งมาเพื่อตีพิมพ์กับวารสารทุกบทความให้เป็นไปตามขอบเขต วัตถุประสงค์ และมาตรฐานของวารสาร ตลอดจนตรวจสอบคุณภาพบทความในกระบวนการประเมินก่อนการตีพิมพ์

        1.5 บรรณาธิการมีหน้าที่ตรวจสอบบทความในด้านความซ้ำซ้อนหรือในด้านการคัดลอกผู้อื่น (Plagiarism) โดยใช้โปรแกรมตรวจสอบความซ้ำซ้อน หากตรวจสอบพบความซ้ำซ้อนหรือการคัดลอกผลงานของผู้อื่นเกิน 25% บรรณาธิการต้องหยุดกระบวนการประเมิน และติดต่อผู้นิพนธ์หลักทันทีเพื่อขอคำชี้แจง เพื่อประกอบการ “ตอบรับ” หรือ “ปฏิเสธ” การตีพิมพ์บทความ

        1.6 บรรณาธิการมีหน้าที่ตรวจสอบการมีจริยธรรมในมนุษย์ โดยผู้นิพนธ์อาจมีการผ่านการอบรมจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ หรือการได้รับรองโครงการวิจัยตามแนวทางหลักจริยธรรมในคนที่เป็นมาตรฐานสากล(IRB) เพื่อประกอบการคัดเลือกบทความมาตีพิมพ์เผยแพร่

        1.7 บรรณาธิการต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน หรือมีส่วนได้ส่วนเสียกับผู้นิพนธ์หรือผู้ทรงคุณวุฒิ  โดยไม่นำบทความหรือวารสารไปใช้ประโยชน์ในเชิงธุรกิจหรือนำไปเป็นผลงานทางวิชาการของตนเอง ต้องปฏิบัติตามกระบวนการและขั้นตอนต่าง ๆ ของวารสารอย่างเคร่งครัด และต้องรักษามาตรฐานของวารสาร รวมถึงพัฒนาวารสารให้มีคุณภาพและมีความทันสมัยเสมอ

  1. บทบาทหน้าที่ของผู้นิพนธ์                                                                                                                                    2.1 ชื่อผู้นิพนธ์ที่ปรากฏในบทความ ต้องเป็นผู้ที่มีส่วนในผลงานวิชาการนี้จริง

           2.2 ผู้นิพนธ์ควรระบุแหล่งทุนในการทำวิจัย (ถ้ามี) ให้ชัดเจนในต้นฉบับ

          2.3 ผู้นิพนธ์ต้องเขียนบทความวิจัยให้ถูกต้องตามรูปแบบที่วารสารกำหนดไว้ใน “แบบฟอร์มการเตรียมต้นฉบับ”

          2.4 ผลงานของผู้นิพนธ์ต้องเป็นผลงานที่ไม่เคยตีพิมพ์หรือเผยแพร่ที่ใดมาก่อน รวมถึงไม่อยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาตีพิมพ์ในวารสารหรือสิ่งตีพิมพ์อื่น

          2.5 ผู้นิพนธ์ต้องไม่คัดลอกผลงานของผู้อื่น และหากมีการนำผลงานผู้อื่นมาอ้างอิงในผลงานของตนเอง ต้องมีการอ้างอิงทุกครั้งเมื่อนำผลงานของผู้อื่นมานำเสนอหรืออ้างอิงในเนื้อหาบทความของตนเอง และต้องจัดทำรายการอ้างอิงท้ายบทความให้ถูกต้องตามรูปแบบที่กำหนด

          2.6 หากผลงานทางวิชาการของผู้นิพนธ์เกี่ยวข้องกับการใช้สัตว์ ผู้เข้าร่วม หรืออาสาสมัคร ผู้นิพนธ์ต้องตรวจสอบให้แน่ชัดว่าได้ดำเนินการตามหลักจริยธรรมในมนุษย์ หรือปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด โดยต้องแสดงเอกสารผ่านการอบรมจริยธรรมในมนุษย์ หรือการได้รับรองโครงการวิจัยตามแนวทางหลักจริยธรรมในคนที่เป็นมาตรฐานสากล (IRB)

  1. บทบาทหน้าที่ของผู้ประเมินบทความ

           3.1 ผู้ประเมินบทความต้องไม่แสวงหาประโยชน์จากผลงานทางวิชาการที่ตนเองได้ทำการประเมิน

          3.2 ผู้ประเมินบทความต้องรักษาระยะเวลาประเมินตามกรอบเวลาประเมินที่กำหนด ไม่เปิดเผยข้อมูลหรือเผยแพร่ส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความให้ผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับรู้ จนกว่าบทความได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสารอย่างเป็นทางการ

          3.3 ผู้ประเมินบทความต้องตระหนักว่าตนเองมีความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาของผลงานวิชาการที่รับประเมินอย่างแท้จริง

         3.4 ผู้ประเมินบทความควรมีส่วนช่วยในการพัฒนาคุณภาพของบทความต้นฉบับ โดยการประเมินต้องคำนึงถึงคุณภาพบทความเป็นหลัก ภายใต้หลักการและเหตุผลทางวิชาการ ปราศจากอคติหรือความคิดเห็นส่วนตัว และไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับผู้นิพนธ์

      3.5 ผู้ประเมินบทคามต้องแจ้งต่อบรรณาธิการทันทีหากมีข้อสงสัยว่าบทความที่ตนประเมินนั้นเป็นบทความที่คัดลอกผลงานชิ้นอื่น หรือซ้ำซ้อนกับที่ได้ประเมินให้วารสารวิชาการอื่น