พฤติกรรมของเยาวชนที่เสพติดน้ำกระท่อม กรณีศึกษา กลุ่มเยาวชนกลุ่มหนึ่งในจังหวัดนครศรีธรรมราช

Main Article Content

ศุภกิตติ์ เลขวิจิตร์
จิตติมา ดำรงวัฒนะ
พงศ์ประสิทธิ์ อ่อนจันทร์
บุญยิ่ง ประทุม

บทคัดย่อ

การศึกษาพฤติกรรมของเยาวชนที่เสพติดน้ำกระท่อม กรณีศึกษา กลุ่มเยาวชนกลุ่มหนึ่งในจังหวัดนครศรีธรรมราช  มีวัตถุประสงค์ในการวิจัย คือ เพื่อศึกษาสาเหตุของเยาวชนเสพติดน้ำกระท่อม กรณีศึกษา กลุ่มเยาวชนกลุ่มหนึ่งในจังหวัดนครศรีธรรมราช และเพื่อศึกษาการป้องกันและแก้ไขปัญหาเยาวชนเสพติดน้ำกระท่อม กรณีศึกษา กลุ่มเยาวชนกลุ่มหนึ่งในจังหวัดนครศรีธรรมราช ผลการศึกษาพบว่า 1. สาเหตุของเยาวชนเสพติดน้ำกระท่อม กรณีศึกษา กลุ่มเยาวชนกลุ่มหนึ่งในจังหวัดนครศรีธรรมราช พบว่า 1) สาเหตุจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ โดยเกิดจากความอยากรู้อยากลอง เห็นเพื่อนดื่มกันจึงดื่มด้วย เพื่อให้เกิดการยอมรับเข้ากลุ่ม ทำให้ติดน้ำกระท่อม ทำให้เสียสุขภาพ เสียการเรียน 2) สาเหตุจากการถูกหลอกลวง  โดยรุ่นพี่หรือเพื่อนหลอกให้ดื่มน้ำกระท่อม เนื่องจากน้ำกระท่อมมีส่วนผสมของน้ำอัดลม ทำให้คิดว่าไม่เป็นอันตรายใด 3) สาเหตุจากความเจ็บป่วย โดยผู้ป่วยจะดื่มน้ำกระท่อมเพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวดจากโรคที่เป็นอยู่  เนื่องจากกระท่อมมีฤทธิ์ระงับประสาท ระงับอาการปวดได้ ผู้ที่มีภาวะเครียดจะดื่มน้ำกระท่อมเพื่อคลายความเครียด จึงทำให้ผู้ป่วยต้องดื่มน้ำกระท่อมเป็นประจำจนเสพติด  4) สาเหตุอื่น โดยอยู่ใกล้แหล่งขายหรือแหล่งผลิต หรือเป็นผู้ขายหรือผู้ผลิต มีเพื่อนสนิทหรือพี่น้องที่ติดน้ำกระท่อม หรือเกิดจากการเลียนแบบ เป็นต้น 2. การป้องกันและแก้ไขปัญหาเยาวชนเสพติดน้ำกระท่อม กรณีศึกษา กลุ่มเยาวชนกลุ่มหนึ่งในจังหวัดนครศรีธรรมราช พบว่า การป้องกันและแก้ไขมีด้วยกัน 4 วิธี คือ 1) การป้องกันตนเอง เลือกคบเพื่อนที่ดี หลีกเลี่ยงเพื่อนที่ชอบชักจูงไปดื่มน้ำกระท่อม รู้จักการปฏิเสธเมื่อถูกชักชวนให้ดื่มน้ำกระท่อมอย่างจริงจัง 2) การป้องกันครอบครัว โดยพ่อแม่ให้ความรักความอบอุ่น มีการประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดี  และตักเตือนลูกไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด 3) การป้องกันชุมชน โดยทุกหน่วยงานเข้ามามีส่วนรับผิดชอบในชุมชน เช่น การจัดการให้ความรู้  การอบรมคนในชุมชน เพื่อให้ทราบถึงผลกระทบของการดื่มน้ำกระท่อม และจัดสรรงบประมาณในการป้องกันและปราบปรามสิ่งเสพติด และดำเนินการอย่างต่อเนื่อง 4) การป้องกันสังคมโดยการมุ่งเน้นไปที่เด็กและเยาวชน หลีกหนีจากปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เสี่ยงเข้าไปเกี่ยวข้องกับน้ำกระท่อม เช่น การเอาผิดกับแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นสถานบันเทิงที่ผิดกฎหมาย หอพักที่ไม่ได้จดทะเบียน ร้านเกม อินเทอร์เน็ต  แหล่งมั่วสุมต่างๆ และมีดำเนินการขยายพื้นที่และกิจกรรมทางบวกมากขึ้น รวมถึงการสร้างแกนนำเพื่อให้เป็นพลังขับเคลื่อนในการจัดระเบียบสังคม

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

กิตติวงค์ สาสวด. (2559). การพัฒนารูปแบบการป้องกันการแพร่ระบาดของยาเสพติดในกลุ่มเด็กและเยาวชน ในเขตพื้นที่เทศบาล อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา. วารสารชุมชนวิจัย, 10(1), 116-124.

เจริญ เฉกพิมาย และปนัดดา ศรีธนสาร. (2555). พฤติกรรมการป้องกันตนเองจากยาเสพติดของนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ. ใน รายงานการวิจัย. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ.

เฉลิมชัย นาคคำ. (2560). การแพร่ระบาดของยาเสพติดประเภทใบพืชกระท่อมในชุมชนบ้านยาว หมู่ที่ 1 ตำบลราตาปันยัง อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี. ใน วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสหวิทยาการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น . มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

ปริญญา ปั้นพล. (2561). Amphetamine (or Amphetamine-like) - Related Disorders. เรียกใช้เมื่อ 5 ธันวาคม 2562 จาก https://ccpe.pharmacycouncil.org/ index.php?option=article_detail&subpage=article_detail&id=375

พัชชา วงค์สวรรค์. (2552). พฤติกรรมการเสพยาบ้าของวัยรุ่น : การศึกษารายกรณี. ใน สารนิพนธ์การศึกษามหาบัณฑิต สาขาวิชาจิตวิทยาการแนะแนว. มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

วีรวัฒน์ เต็งอำนวย. (2558). ป.ป.ส.ห่วงการระบาดน้ำต้มใบกระท่อมในกลุ่มเยาวชนภาคใต้. เรียกใช้เมื่อ 5 ธันวาคม 2562 จาก https://mgronline.com/uptodate /detail/9580000027438

สมนึก บุญสุภา. (2562). กระท่อม...พืชที่ทุกคนอยากรู้. เรียกใช้เมื่อ 5 ธันวาคม 2562 จาก https://www.pharmacy.mahidol.ac.th/knowledge/files/0354.pdf

สาวิตรี อัษณางค์กรชัย และคณะ. (2547). พืชกระท่อมในสังคมไทย : วัฒนธรรม พฤติกรรม สุขภาพ วิทยาศาสตร์ กฎหมาย. กรุงเทพมหานคร: สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กระทรวงยุติธรรม.