คำแนะนำสำหรับผู้เขียน

คำแนะนำสำหรับผู้เขียน

          บทความที่ส่งมาขอรับการตีพิมพ์ในวารสารพุทธอาเซียนศึกษา จะต้องไม่เคยตีพิมพ์หรืออยู่ระหว่างการพิจารณาจากผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อตีพิมพ์ในวารสารอื่น ผู้เขียนบทความจะต้องยินยอมและปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ รูปแบบ ขั้นตอนการดำเนินการเกี่ยวกับการเสนอ บทความวิจัย บทความวิชาการ บทวิจารณ์หนังสือ บทความปริทรรศน์ และบทความพิเศษ เพื่อตีพิมพ์ในวารสารพุทธอาเซียนศึกษาอย่างเคร่งครัด รวมทั้งระบบการอ้างอิงในเนื้อหาและอ้างอิงในท้ายบทความ (References) ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของวารสาร ในรูปแบบของ APA 6th edition ไม่ใช่การอ้างอิงแบบเชิงอรรถ และตัวเลขที่ใช้ประกอบในเนื้อหาบทความจะต้องเป็นเลขอารบิกเท่านั้น

ทัศนะและความคิดเห็นที่ปรากฏในบทความในวารสารพุทธอาเซียนศึกษา ถือเป็นความรับผิดชอบของผู้เขียนบทความนั้น และไม่ถือเป็นทัศนะและความรับผิดชอบของกองบรรณาธิการพุทธอาเซียนศึกษารวมทั้งผู้เขียนจะต้องคำนึงถึงจริยธรรมการวิจัย ไม่ละเมิดหรือคัดลอกผลงานของผู้อื่นมาเป็นของตนเอง ซึ่งทางวารสารได้กำหนดความซ้ำซ้อนของผลงาน ด้วยโปรแกรม CopyCatch ในระบบเว็บไซต์ของ ThaiJO ไม่เกิน 25% 

ผู้ประสงค์จะตีพิมพ์บทความต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขและกระบวนการดังต่อไปนี้

  1. ผู้เขียนจะต้องศึกษารูปแบบและตรวจสอบการเขียนบทความให้ตรงตามรูปแบบของวารสาร
  2. แนบไฟล์บทความ (Microsoft word) โดยสมัครสมาชิกและเข้าสู่ระบบออนไลน์ที่ https://sotci-thaijo.org/index.php/basj/login ทั้งนี้ผู้เขียนต้องระบุต้นสังกัด และเบอร์โทรศัพท์ ที่ติดต่อได้โดยตรง ไว้ในกล่องโต้ตอบ หรือDiscussion Box
  3. บทความต้องผ่านการตรวจรูปแบบจากกองบรรณาธิการ และผู้เขียนต้องปรับแก้ไขให้สมบูรณ์และถูกต้องตามคำแนะนำของกองบรรณาธิการ
  4. เนื้อหาบทความและองค์ประกอบของบทความต้องผ่านการตรวจพิจารณาและอนุมัติจากกองบรรณาธิการ เพื่อส่งให้ผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาประเมินบทความ
  5. บทความต้องผ่านการประเมินจากผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 2 ท่าน และการพิจารณาของกองบรรณาธิการถือเป็นที่สิ้นสุดในกรณีที่บทความของท่านไม่ผ่านการประเมินและพิจารณาจากผู้ทรงคุณวุฒิและกองบรรณาธิการ วารสารขอสงวนสิทธิ์ในการไม่รับตีพิมพ์บทความและไม่คืนเงินโดยประการทั้งปวง
  6. วารสารพุทธอาเซียนศึกษา เมื่อได้ผ่านการประเมินคุณภาพจากศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (TCI) โดยได้รับการจัดให้อยู่ในวารสารกลุ่มใดๆ ก็ตามผู้เขียนยินยอมที่จะรับผลการประเมินนั้นโดยไม่มีข้อโต้แย้ง
  7. เนื้อหาบทความที่แก้ไขตามผู้ประเมินต้องไฮไลท์ตัวอักษรสีแดง เพื่อให้กองบรรณาธิการได้ตรวจสอบว่าท่านได้แก้ไขจริงและหากท่านไม่ไฮไลท์ตัวอักษรสีแดง ทางวารสารจะถือว่าท่านไม่ได้แก้ไขบทความตามผู้ประเมิน และส่งไฟล์ (Microsoft word) บทความที่แก้ไขสมบูรณ์แล้วแนบเข้ามาในระบบ โดยมีระยะเวลาไม่เกิน 2 สัปดาห์ หลังจากวารสารได้ส่งผลประเมินให้ผู้เขียนทราบ ในกรณีกองบรรณาธิการตรวจพบว่าบทคัดย่อภาษาอังกฤษ (Abstract) ไม่สมบูรณ์ ทางวารสารจะส่งให้ผู้เชี่ยวชาญทางด้านภาษาปรับแก้ไข ซึ่งผู้เขียนจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการตรวจแก้ Abstract จำนวน 500 บาท
  8. ทั้งนี้แม้บทความที่ผ่านการอนุมัติแล้ว ภายหลังพบว่า หากไม่สามารถติดต่อผู้เขียนบทความได้ และผู้เขียนไม่ยอมแก้ไขบทความให้สมบูรณ์หรือแก้ไขบทความล่าช้าไม่ตรงตามระยะเวลาที่กำหนดทางวารสารขอสงวนสิทธิ์ที่จะปฏิเสธไม่รับตีพิมพ์บทความ และขอยกเลิกใบตอบรับตีพิมพ์บทความ โดยวารสารจะแจ้งผ่านทางอีเมล์จากระบบที่ผู้เขียนได้ลงทะเบียนไว้แล้วเท่านั้น
  9. การจัดเลื่อนลำดับเพื่อเผยแพร่บทความในแต่ละฉบับ เป็นอำนาจและสิทธิ์ในการตัดสินใจของกองบรรณาธิการ โดยไม่ต้องขออนุญาตจากเจ้าของบทความ ถ้าหากพบว่าบทความและกระบวนการการส่งบทความในระบบไม่สมบูรณ์
  10. ความก้าวหน้าเกี่ยวกับบทความ เป็นความรับผิดชอบของเจ้าของบทความที่ต้องติดตามสอบถามอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้กองบรรณาธิการจะแจ้งให้ทราบในระบบของวารสาร

การเตรียมต้นฉบับบทความ

1) ต้นฉบับบทความต้องเป็นไฟล์เวิร์ด (Microsoft word) เท่านั้น

2) บทความต้องพิมพ์ในกระดาษขนาด A4 มีความยาวระหว่าง 10-15 หน้า (รวมหน้า References) พิมพ์บนกระดาษหน้าเดียว 1 คอลัมน์ ใช้ตัวอักษรแบบ THSarabunPSK (ขนาดอักษร 16 pt.) ตัวเลขที่ใช้ประกอบในเนื้อหาต้องเป็นเลขอารบิกเท่านั้น

3) ตั้งค่าหน้ากระดาษโดยเว้นขอบกระดาษ ขอบบน - ล่าง ขอบขวา - ซ้าย เท่ากันทุกด้าน ด้านละ 1 นิ้ว กำหนดระยะห่างระหว่างบรรทัดเท่ากับ 1 และย่อหน้า 7 เคาะ (1 Tab)

4) การนำเสนอรูปภาพและตาราง ต้องนำเสนอรูปภาพและตารางที่มีความคมชัดพร้อมระบุหมายเลขและชื่อกำกับใต้รูปภาพไว้ด้านล่าง พิมพ์เป็นตัวหนา เช่น ตารางที่ 1 หรือ Table 1 และ รูปภาพที่ 1 หรือ Figure 1 โมเดลที่ 1 หรือ Model 1 รูปภาพที่นำเสนอต้องมีคำอธิบายรายละเอียดของข้อมูลครบถ้วนและเข้าใจได้โดยไม่จำเป็นต้องกลับไปอ่านที่เนื้อความอีก ระบุลำดับของรูปภาพทุกรูปให้สอดคล้องกับเนื้อหาที่อยู่ในต้นฉบับ โดยคำอธิบายต้องกระชับและสอดคล้องกับรูปภาพที่นำเสนอ

5) ชื่อเรื่องต้องมีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ตัวหนาขนาด 18 pt. ตรงกลางหน้ากระดาษ

6) ชื่อผู้เขียน ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ขนาด 16 pt. ไม่ต้องระบุตำแหน่งทางวิชาการ คำนำหน้า นาย/นาง/นางสาว/คุณ/ยศตำแหน่ง (ยกเว้นกรณีเป็นพระภิกษุ) พิมพ์ด้วยตัวอักษรปกติอยู่ใต้ชื่อเรื่องโดยชิดขอบขวา และใช้ตัวเลขยกกำกับหลังชื่อผู้เขียนแสดงชื่อหน่วยงาน กรณีมีผู้ร่วมเขียน 2 คนขึ้นไป สังกัดสถาบันเดียวกัน ให้แสดงเพียง 1 หมายเลขเท่านั้น แต่หากผู้ร่วมเขียนมาจากหลายสถาบัน ให้ระบุหมายเลขยกกำกับหลังชื่อ 1 2 3 ตามลำดับ

7) บทคัดย่อภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ไม่เกิน 500 คำต่อบทคัดย่อ

8) กำหนดคำสำคัญ (Keywords) จากชื่อบทความ ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ จำนวน 3 - 5 คำ

9) การเรียงหัวข้อ หัวข้อใหญ่สุด (16 pt. ตัวหนา) ให้พิมพ์ชิดขอบด้านซ้าย หัวข้อย่อย (16 pt. ตัวหนา) เว้นห่างจากหัวข้อใหญ่ 7 เคาะ พิมพ์ตัวอักษรที่ 8 ต้องพิมพ์ให้ตรงกัน

10) การใช้ตัวเลขตลอดทั้งบทความ ต้องใช้ตัวเลขอารบิกทั้งหมด ไม่ใช้ตัวเลขไทย

11) การอ้างอิงแหล่งข้อมูลในเนื้อหา จะต้องมีอ้างอิงในเนื้อหาและอ้างอิงท้ายบทความ ตามรูปแบบของ APA 6th edition ไม่ใช่อ้างอิงเชิงอรรถ บทความวิชาการควรมีการอ้างอิงไม่ต่ำกว่า 15 รายการ และบทความวิจัยควรมีการอ้างอิง 8 รายการอ้างอิงขึ้นไป

12) สามารถส่งบทความผ่านระบบออนไลน์ได้ที่ https://so07.tci-thaijo.org/index.php/basj/login

 

สิทธิของบรรณาธิการ

ในกรณีที่กองบรรณาธิการหรือผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งได้รับเชิญให้เป็นผู้ทรงคุณวุฒิผู้ตรวจประเมินบทความมีความเห็นว่าควรแก้ไข กองบรรณาธิการจะส่งคืนเพื่อให้เจ้าของบทความแก้ไข โดยจะยึดถือข้อเสนอแนะของผู้ทรงคุณวุฒิผู้ตรวจประเมินเป็นเกณฑ์หลัก และขอสงวนสิทธิ์ที่จะพิจารณาไม่ตีพิมพ์บทความ ในกรณีที่ผลการประเมินบทความไม่ผ่านจากผู้ทรงคุณวุฒิ และในกรณีที่บทความวิจัยหรือบทความทางวิชาการไม่แก้ไขให้เป็นไปตามคำแนะนำของกองบรรณาธิการและผู้เชี่ยวชาญ ทั้งนี้ หากมีการตรวจพบหรือมีการร้องเรียนว่า บทความมีความซ้ำซ้อน (CopyCatch) เกิน 25 % หรือซ้ำซ้อนในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ หรือได้เคยตีพิมพ์เผยแพร่บทความมาก่อนแล้ว ทางวารสารขอสงวนสิทธิ์ที่จะใช้ดุลยพินิจ ปฏิเสธและระงับการเผยแพร่บทความนั้น