กรอบหน้าที่ของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการ

    เพื่อให้การดำเนินงานของวารสารวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มีขั้นตอนและกระบวนการเป็นไปโดยสอดคล้องกับมาตรฐานการดำเนินงานเพื่อการตีพิมพ์ของวารสารวิชาการระดับนานาชาติ ทางกองบรรณาธิการของวารสารจึงได้กำหนดกรอบหน้าที่ของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการเพื่อเป็นแนวปฏิบัติเชิงจริยธรรมในการตีพิมพ์เผยแพร่บทความผลงานทางวิชาการซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

 

หน้าที่ของบรรณาธิการ

1) บรรณาธิการมีหน้าที่ดำเนินการพิจารณาบทความอย่างเป็นอิสระและเป็นธรรมภายใต้กรอบนโยบายของวารสารและจริยธรรมในการตีพิมพ์

2) บรรณาธิการมีหน้าที่ดำเนินการให้การประเมินคุณภาพบทความผ่านผู้ทรงคุณวุฒิมีความยุติธรรม ไม่มีอคติ และอยู่ในกรอบเวลาที่เหมาะสม

3) บรรณาธิการต้องพิจารณาบทความจากเนื้อหาของบทความโดยไม่คำนึงถึง เชื้อชาติ เพศ ศาสนา ต้นกำเนิด หรือแนวคิดทางการเมืองของตัวบทความและผู้เขียน

4) บรรณาธิการจะต้องไม่ดำเนินการใด ๆ ที่เป็นการเพิ่มระดับของวารสารด้วยวิธีการที่ไม่เหมาะสม เช่นการขอให้ผู้แต่งอ้างอิงบทความเก่าในวารสาร หรือบทความของบรรณาธิการอย่างไม่สมเหตุสมผล (ยกเว้นกรณีที่เป็นเจตนาเพื่อปรับปรุงคุณภาพของบทความ)

5) บรรณาธิการต้องรักษาความลับของการตีพิมพ์บทความ โดยไม่เผยแพร่ข้อมูล หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความ หรือข้อคิดเห็นของผู้แต่ง ผู้ทรงคุณวุฒิ โดยไม่ได้รับการยินยอมจากเจ้าตัว ทั้งนี้ในกรณีที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับการละเมิดจริยธรรมการตีพิมพ์ บรรณาธิการอาจเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับบทความที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาให้แก่วารสารฉบับอื่นเท่าที่จำเป็นได้

6) บรรณาธิการต้องแสดงข้อมูลที่อาจบ่งชี้ถึงผลประโยชน์ซ้อนทับของตนเองกับบทความที่เข้าสู่กระบวนการพิจารณาให้กับกองบรรณาธิการ ทั้งนี้เมื่อกองบรรณาธิการพิจารณาเห็นว่าประโยชน์ซ้อนทับดังกล่าวอาจส่งผลต่อความเป็นอิสระ และความยุติธรรมในการพิจารณาบทความ บรรณาธิการคนดังกล่าวต้องไม่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการพิจารณาบทความนั้น

7) บรรณาธิการต้องปฏิบัติงานตามขั้นตอนและกระบวนการต่าง ๆ ของวารสารอย่างเคร่งครัด เพื่อตรวจสอบผลงานที่จะถูกนำมาเผยแพร่ให้เป็นสาธารณะและอำนวยการงานการตีพิมพ์เผยแพร่ของวารสารให้สมบูรณ์และสำเร็จลุล่วงเป็นไปตามเป้าหมายของหน่วยงานรับผิดชอบ

8) บรรณาธิการต้องปฏิบัติงานตามขั้นตอนและกระบวนการต่าง ๆ ของวารสารอย่างเคร่งครัด เพื่อตรวจสอบผลงานที่จะถูกนำมาเผยแพร่ให้เป็นสาธารณะและอำนวยการงานการตีพิมพ์เผยแพร่ของวารสารให้สมบูรณ์และสำเร็จลุล่วงเป็นไปตามเป้าหมายของหน่วยงานรับผิดชอบ

 

หน้าที่ของผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความม

1) ผู้ทรงคุณวุฒิต้องประเมินคุณภาพบทความอย่างเที่ยงธรรมตามหลักวิชาการเพื่อสนับสนุนการลงข้อสรุปเพื่อตัดสินใจของบรรณาธิการ โดยการให้ความเห็นต้องแสดงหลักวิชาการหรือหลักฐานที่น่าเชื่อถือที่ใช้ประกอบการประเมินตามเกณฑ์ในการประเมินบทความ และให้ข้อคิดเห็นในการประเมินเพื่อการปรับปรุงคุณภาพของบทความผลงานทางวิชาการของวารสาร

2) ผู้ทรงคุณวุฒิต้องรักษาข้อมูลทุกส่วนของบทความเป็นความลับ ไม่นำข้อมูลส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความต้นฉบับไปแลกเปลี่ยนเผยแพร่ หรือใช้ประโยชน์ส่วนบุคคลโดยปราศจากการได้รับการอนุญาตจากบรรณาธิการ รวมทั้งต้องรักษาระยะเวลาประเมินตามกรอบเวลาที่วารสารกำหนดให้ 

3) หากผู้ทรงคุณวุฒิตรวจสอบพบว่าบทความต้นฉบับที่ได้รับการมอบหมายให้ประเมินคุณภาพอาจมีปัญหาอย่างหนึ่งอย่างใดเกี่ยวกับจริยธรรมการตีพิมพ์ เช่น การคัดลอกผลงานชิ้นอื่น การทำซ้ำผลงานเดิมที่เคยเผยแพร่แล้ว การใช้ผลงานที่อาจละเมิดลิขสิทธิ์ การไม่อ้างอิงหรือกล่าวถึงเจ้าของผลงานก่อนหน้า การส่งผลงานชิ้นเดียวพร้อมกันไปหาวารสารวิชาการ เป็นต้น ผู้ทรงคุณวุฒิต้องแจ้งให้บรรณาธิการทราบ พร้อมแสดงหลักฐานประกอบโดยทันที

4) ผู้ประเมินต้องไม่มีผลประโยชน์ซ้อนทับที่จะมีผลต่อการประเมินคุณภาพบทความที่ตนเองประเมิน ทั้งนี้หากผู้ทรงคุณวุฒิพบว่าตนเองอาจมีผลประโยชน์ซ้อนทับ อาทิ ตนเองอาจเป็นคู่แข่งโดยตรงของผู้เขียน ตนเองอาจเป็นผู้ร่วมงานกับคณะผู้เขียนคนใดคนหนึ่ง ฯลฯ ผู้ทรงคุณวุฒิต้องแจ้งกับกองบรรณาธิการเพื่อร่วมกันพิจารณาว่าผลประโยชน์ซ้อนทับนั้นจะมีผลมากพอที่จะกระทบต่อความเป็นอิสระ ความเป็นธรรม หรือ อคติในการประเมินคุณภาพบทความหรือไม่  

 

หน้าที่ของผู้เขียน

1) ผู้เขียนและผู้เขียนร่วมทุกคนต้องมีส่วนกับงานเขียน ซึ่งอาจเป็นการมีส่วนร่วมในการเขียนหรือการดำเนินงานวิจัยและคณะผู้เขียนทุกคนต้องเห็นพ้องในการจะนำบทความร่างสุดท้ายตีพิมพ์

2) ผู้เขียนต้องรับรองว่าบทความที่จะนำมาของตีพิมพ์เป็นผลงานใหม่ ที่ไม่เคยได้รับการตีพิมพ์ที่ใดมาก่อน และไม่อยู่ในระหว่างการพิจารณาตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารอื่น

3) ผู้เขียนต้องไม่ใช้ภาพ ตาราง หรือข้อมูล ของผู้อื่น โดยปราศจากความยินยอม (ละเมิดลิขสิทธิ์) และต้องไม่เป็นการคัดลอกผลงานของผู้อื่นโดยไม่มีการอ้างอิงอย่างเหมาะสม (Plagiarism)

4)  หากผู้เขียนมีการเก็บรวบรวมข้อมูล เพื่อนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของบทความ ต้องเป็นการรวบรวมข้อมูลจริงเท่านั้น ทั้งนี้ผู้เขียนอาจถูกร้องขอให้แสดงชุดข้อมูลดิบ หรือข้อมูลที่ยังไม่ได้ถูกจัดกระทำ เพื่อการตรวจสอบในกระบวนการประเมินคุณภาพบทความ โดยผู้เขียนควรจัดเตรียมชุดข้อมูลดังกล่าวให้สามารถเข้าถึงได้อย่างเป็นสาธารณะ  

5) หากพบความผิดพลาด หรือมีข้อมูลที่คลาดเคลื่อน ผู้เขียนมีหน้าที่ต้องแจ้งให้กับทางกองบรรณาธิการทราบ

6) ผู้เขียนต้องระบุแหล่งทุนที่สนับสนุนในการทำวิจัย หรือ การเขียน ที่นำมาเรียบเรียงเสนอเป็นบทความวิจัย

7) ผู้เขียนต้องระบุถึงประโยชน์ซ้อนทับ (Conflict of interest) ของคณะผู้เขียน แหล่งทุน กับงานวิจัย หรือเนื้อหาในบทความ

8) หากงานเขียนของผู้เรียนเป็นส่วนหนึ่งของโครงการขนาดใหญ่ อาทิเป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์​ หรือเป็นการศึกษาย่อยในงานวิจัยฉบับใหญ่ หรือ มีการใช้ข้อมูลเดิมของงานวิจัยอื่น ผู้เขียนมีหน้าที่ต้องแจ้งในบทความของตนเอง

9) กรณีที่ผลงานมีการศึกษาวิจัยและทำการทดลองในคนหรือสัตว์ทดลอง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อศักดิ์ศรี สิทธิ ความปลอดภัย และสุขภาวะของตัวอย่าง ผู้ร่วมการวิจัย หรือผู้ให้ข้อมูล  ผู้เขียนต้องแสดงหนังสือรับรองจริยธรรมจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์หรือสัตว์ทดลอง

10) การกล่าวขอบคุณผู้มีส่วนช่วยเหลือในกิตติกรรมประกาศ ผู้เขียนบทความควรขออนุญาตจากผู้ที่ผู้เขียนประสงค์จะขอบคุณเสียก่อน