พัฒนาการและกระบวนการบริหารจัดการชุมชนบึงบางซื่อ

ผู้แต่ง

  • จิรายุทธ ศรีปัญจากุล คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • กมลทิพย์ แจ่มกระจ่าง คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

คำสำคัญ:

การพัฒนาการของชุมชน, การบริหารจัดการของชุมชน, ชุมชนเมือง, หน่วยงานสนับสนุน ภายนอก, โครงการสานพลังประชารัฐ

บทคัดย่อ

          การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาถึงพัฒนาการของชุมชนบึงบางซื่อ และกระบวนการบริหารจัดการชุมชนบึงบางซื่อ โดยใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ ด้วยการศึกษาจากเอกสาร และการศึกษาภาคสนาม ได้แก่ การสัมภาษณ์เชิงลึก การสัมภาษณ์อย่างไม่เป็นทางการ การสังเกตอย่างมีส่วนร่วมและไม่มีส่วนร่วม และการสนทนากลุ่ม จากการศึกษาพบว่า เดิมชุมชนแห่งนี้เป็นชุมชนแออัดในเขตเมือง มีความเป็นปัจเจกบุคคลสูง ความสัมพันธ์ของคนในชุมชนจึงมีน้อย มีคุณภาพชีวิตไม่ดีเท่าที่ควร รวมถึงพื้นที่ชุมชนเป็นของ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จํากัด (มหาชน) หรือ SCG ดังนั้น บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จํากัด (มหาชน) และหน่วยงานสนับสนุนที่เป็นเครือข่ายในโครงการสานพลังประชารัฐ-การพัฒนาบึงบางซื่อ เข้ามาดำเนินการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน เริ่มจากการจัดระเบียบพื้นที่สร้างที่อยู่อาศัยใหม่ และจัดตั้งสหกรณ์เคหสถานบ่อริมน้ำพัฒนา จำกัด เพื่อเป็นตัวแทนในการบริหารจัดการของชุมชน การดำเนินการดังกล่าวเกิดกระบวนการบริหารจัดการเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้การดำเนินโครงการสานพลังประชารัฐ-การพัฒนาบึงบางซื่อ อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นการวางรากฐานการบริหารจัดการให้กับคนในชุมชน ประกอบไปด้วย 1) กระบวนการบริหารจัดการในรูปแบบเครือข่าย (การสนับสนุน) 2) กระบวนการบริหารจัดการในรูปแบบกลุ่ม 3) กระบวนการบริหารจัดการในรูปแบบการมีส่วนร่วม และ 4) กระบวนการบริหารจัดการในรูปแบบการเรียนรู้ ทำให้ปัจจุบันชุมชนแห่งนี้ถูกพัฒนาและเปลี่ยนแปลง เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน ข้อเสนอแนะ เนื่องจากเมืองมีการเจริญเติบโตและพัฒนาตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ชุมชนในเขตเมืองพัฒนาตามไปด้วย ไม่สามารถแยกส่วนการพัฒนาได้ และหากพื้นที่ชุมชนอยู่ในพื้นที่ของหน่วยงานเอกชน หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ควรมีระเบียบหรือกฎหมายในการสนับสนุนให้หน่วยงานเอกชนมีโอกาสสามารถสนับสนุนการพัฒนาชุมชนในพื้นที่ของตน ให้สามารถดำเนินการพัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นตัวอย่างหรือแนวทางให้กับหน่วยงานภาคเอกชนที่สนใจ หรือมองถึงส่วนรวมมากขึ้น และเกิดผลประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมต่อไปในอนาคต

References

โกวิทย์ พวงงาม. (2551). การจัดการตนเองของชุมชนและท้องถิ่น. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: บริษัท ธรรมสาร จำกัด.ศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

ปรียาภา เมืองนก. (2557). กระบวนการบริหารจัดการชุมชนที่นำไปสู่ชุมชนเข้มแข็ง: กรณีศึกษาชุมชนหมู่บ้านจัดสรรเขตปริมณฑล. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต หลักสูตรพัฒนาชุมชนมหาบัณฑิต ภาควิชาการพัฒนาชุมชน คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน). (2554). ปฏิรูปประเทศไทย ให้ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง. ฉบับที่ 130. กรุงเทพฯ: สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน).

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2022-06-29