ปัญหากฎหมายเกี่ยวกับเหตุจำเป็น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 89/1 และมาตรา 89/2

บุญธิดา ปั้นเปี่ยมทอง, ดร.เอกพงษ์ สารน้อย

ผู้แต่ง

  • หลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม หลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม

บทคัดย่อ

งานวิจัยฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงความเป็นมาและวิวัฒนาการ ทฤษฎีและแนวคิดใน การควบคุมตัวผู้ต้องหาหรือผู้กระทำความผิดด้วยวิธีอื่นนอกจากการจำคุกในเรือนจำ โดยศึกษามาตรการทางกฎหมายทั้งของประเทศไทยและต่างประเทศ เพื่อวิเคราะห์ปัญหาทางกฎหมายที่เกิดขึ้นและหาแนวทางใน การแก้ไขปรับปรุงมาตรการทางกฎหมายดังกล่าวให้มีความชัดเจนและบังคับใช้ได้จริงอย่างมีประสิทธิภาพ

จากการศึกษาวิจัยพบว่า มาตรการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมตัวผู้ต้องหาหรือผู้กระทำความผิดด้วยวิธีอื่นนอกจากการจำคุกในเรือนจำของประเทศไทย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา ความอาญา มาตรา 89/1 และมาตรา 89/2 มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 แต่ในทางปฏิบัติปรากฏว่า ไม่มีการนำเอามาตรการดังกล่าวมาบังคับใช้ให้เกิดผลได้จริง เนื่องจากมาตรการดังกล่าวยังมีปัญหาทางกฎหมายหลายประการ ได้แก่ กฎหมายมิได้กำหนดหลักเกณฑ์ของ “เหตุจำเป็น” ที่จะนำเอามาตรการดังกล่าวมาใช้บังคับไว้ให้ชัดเจนเพียงพอ และกฎหมายไม่ได้กำหนดสถานที่ขังให้มีความสัมพันธ์กับเหตุจำเป็นของ ตัวผู้กระทำความผิด นอกจากนี้กฎหมายยังไม่ได้กำหนดประเภทหรือลักษณะของความผิดที่ห้ามมิให้นำมาตรการดังกล่าวมาบังคับใช้ ซึ่งปัญหาความไม่ชัดเจนของกฎหมายนี้เป็นการเปิดช่องให้ศาลใช้ดุลพินิจ มากจนเกินไป อันเป็นเหตุให้ในทางปฏิบัติศาลไม่นำมาตรการดังกล่าวมาใช้บังคับเลย ซึ่งเมื่อศึกษามาตรการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องในต่างประเทศ พบว่า ในประเทศอังกฤษและประเทศสหรัฐอเมริกา แม้กฎหมายจะไม่ได้กำหนดว่าในการนำเอามาตรการทางกฎหมายในการควบคุมตัวผู้ต้องหาหรือผู้กระทำความผิดด้วยวิธีอื่นนอกจากการจำคุกในเรือนจำมาบังคับใช้จะต้องปรากฏเหตุจำเป็นอย่างไร แต่มีการกำหนดหลักเกณฑ์อย่างชัดเจนว่าผู้กระทำความผิดประเภทใดบ้างที่ศาลสามารถพิจารณาใช้มาตรการเช่นว่านี้ได้ โดยประเทศอังกฤษกำหนดให้สถานที่ควบคุมตัวผู้กระทำความผิดต้องมีความสัมพันธ์กับตัวผู้กระทำความผิด และในประเทศสหรัฐอเมริกาก็มีบทบัญญัติที่กำหนดฐานความผิดร้ายแรงที่ห้ามมิให้นำมาตรการปฏิบัติต่อผู้กระทำความผิดใน
ชุมชนมาใช้บังคับอย่างชัดเจน

เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงเสนอแนะให้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวกับ
มาตรการทางกฎหมายในการควบคุมตัวผู้ต้องหาหรือผู้กระทำความผิดด้วยวิธีอื่นนอกจากการจำคุกในเรือนจำ
ให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพื่อให้สามารถบังคับใช้กฎหมายให้เกิดผลได้จริงตรงตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย
ต่อไป

คำสำคัญ: การควบคุมตัว, สถานที่อื่นนอกจากเรือนจำ

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2022-08-25