จริยธรรมการตีพิมพ์ (Publication Ethics)

        วารสารวิทยาการจัดการและการบัญชี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์  ได้ตระหนักเห็นความสำคัญในการดำเนินงานพัฒนาคุณภาพวารสารให้มีคุณภาพ มาตรฐาน และถูกต้องตามหลักจริยธรรม จรรยาบรรณ เป็นไปตามประกาศศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (TCI) เรื่อง การประเมินด้านจริยธรรม จรรยาบรรณวารสารวิชาการไทยในฐานข้อมูล TCI  ดังนั้น วารสารจึงได้กำหนดบทบาทหน้าที่และแนวปฏิบัติตามหลักจริยธรรม จรรยาบรรณในการตีพิมพ์สำหรับบุคคล 3 กลุ่ม ได้แก่ 1. ผู้เขียน 2. บรรณาธิการและกองบรรณาธิการ และ 3. ผู้ประเมิน ไว้ดังนี้

 

บทบาทและหน้าที่ของผู้เขียนบทความ (Duties of Authors)

1.  ผู้เขียนบทความจะต้องรับรองผลงานว่าไม่เคยได้รับการตีพิมพ์ที่ใดมาก่อน

2.  ผู้เขียนบทความจะต้องให้ความสำคัญกับการอ้างอิงเอกสาร ผลงานทางวิชาการ ฯลฯ ทั้งในเนื้อหาและบรรณานุกรมตามรูปแบบที่วารสารกำหนดไว้อย่างเคร่งครัด

3.  ผู้เขียนบทความจะต้องไม่คัดลอกผลงานหรือข้อความของผู้อื่นมาจนทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นผลงานของตนเอง หากผู้เขียนมีการนำผลงานของผู้อื่นมาใช้ในบทความ จะต้องทำการอ้างอิงให้ถูกต้องทุกครั้ง

4.  ผู้เขียนต้องไม่ปกปิดบิดเบือนข้อมูล หรือสร้างข้อมูลเท็จจากความเป็นจริงในการนำเสนอ เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง

5.  ผู้เขียนต้องเปิดเผยแหล่งเงินทุนที่สนับสนุนหรือกรณีที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนให้ชัดเจน (ถ้ามี)

 

บทบาทและหน้าที่ของบรรณาธิการและกองบรรณาธิการ (Duties of Editors)

1.  บรรณาธิการและกองบรรณาธิการ มีหน้าที่พิจารณากลั่นกรองคุณภาพของบทความก่อนการตีพิมพ์ให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของวารสารที่เปิดรับและพิจารณาตรวจสอบเรื่องการคัดลอกวรรณกรรมของบทความอย่างเคร่งครัด

2.  บรรณาธิการและกองบรรณาธิการต้องไม่เปิดเผยข้อมูลของผู้เขียนและผู้ประเมินให้ทราบต่อกันและบุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องตลอดระยะเวลาประเมิน

3.  บรรณาธิการและกองบรรณาธิการต้องไม่ตีพิมพ์บทความในวารสารของตนเอง เพื่อประโยชน์อื่นใดโดยไม่มีข้อยกเว้น

4.  บรรณาธิการและกองบรรณาธิการต้องควบคุมกระบวนการขั้นตอนต่าง ๆ ในการดำเนินงานโดยไม่มีอคติกับผลงานของผู้เขียนบทความและพิจารณาอย่างเป็นธรรม

5.  บรรณาธิการและกองบรรณาธิการต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนใด ๆ กับผู้เขียนและผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความ

6.  บรรณาธิการและกองบรรณาธิการต้องปฏิบัติตามขั้นตอนกระบวนการต่าง ๆ ของวารสารอย่าง เคร่งครัด เพื่อให้วารสารมีคุณภาพตามที่ศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทยกำหนด

 

บทบาทและหน้าที่ของผู้ประเมินบทความ (Duties of Reviewers)

1.  ผู้ประเมินบทความ ต้องไม่เปิดเผยข้อมูลของบทความแก่บุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องในการประเมินบทความ ตลอดช่วงระยะเวลาในการประเมินบทความ

2.  ผู้ประเมินบทความ ควรทำหน้าที่ในการประเมินผลงาน ด้วยความเชี่ยวชาญ ตามความรู้ และประสบการณ์ของตนเองตามหลักวิชาการ โดยไม่มีอคติ ไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือผลประโยชน์ทับซ้อนใด ๆ กับผู้เขียนบทความ

3.  ผู้ประเมินบทความ ควรประเมินผลงานให้สอดคล้องกับเนื้อหาบทความ และถูกต้องตามหลักวิชาการ พร้อมทั้งส่งผลการประเมินในระยะเวลาที่วารสารกำหนดไว้

4.  ผู้ประเมินบทความ ต้องแจ้งให้บรรณาธิการทราบ หากพบว่ามีเนื้อหาข้อความหรือส่วนหนึ่งส่วนใดซ้ำกับบทความอื่น ๆ