AI Policies
นโยบายการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) สำหรับวารสารศิลปะและวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำมูล
ตามมติที่ประชุมกองบรรณาธิการวารสารศิลปะและวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำมูล ในคราวการประชุมครั้งที่ 1/2568 ลงวันที่ 19 มีนาคม 2568 ณ ห้องประชุมสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ และในรูปแบบออนไลน์ โดยมีมติเห็นชอบให้วารสารประกาศนโยบายการใช้ AI สำหรับบทความที่เผยแพร่ ตั้งแต่ ปีที่ 14 ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2568 เป็นต้นไป วารสารจึงขอประกาศนโยบาย ดังนี้
การใช้ AI สำหรับผู้เขียน
1. ผู้เขียนสามารถใช้ AI เป็นเครื่องมือในการช่วยเหลือสำหรับการเขียนบทความเท่านั้น โดย AI ไม่สามารถเป็นผู้เขียนหลักหรือตัวแทนใดๆ ในบทความ ทั้งนี้เพื่อให้บทความเกิดองค์ความรู้ใหม่ เกิดคุณค่า และเกิดประโยชน์ทางวิชาการ
2. ผู้เขียนจะต้องมีความรับผิดชอบต่อเนื้อหา ทั้งความถูกต้องและความสมบูรณ์ของต้นฉบับ ซึ่ง AI เป็นเครื่องมือที่ไม่สามารถระบุเป็นผู้แต่งหรือผู้ร่วมแต่งและไม่สามารถรับผิดชอบของต้นฉบับได้ ดังนั้น ผู้เขียนมีหน้าที่รับผิดชอบในการตรวจสอบให้แน่ใจว่าเนื้อหาที่สร้างหรือได้รับการช่วยเหลือโดย AI จะต้องเป็นเนื้อหาต้นฉบับเพื่อป้องกันการลอกเลียนแบบ โดยระบุแหล่งที่มาและอ้างอิงอย่างถูกต้องและครบถ้วน
3. ผู้เขียนจะต้องเปิดเผยข้อมูลอย่างครบถ้วน ต้องระบุวิธีการใช้ AI ในการเขียนบทความ โดยแจ้งในกิตติกรรมประกาศ (Acknowledgments) และ วิธีดำเนินงานวิจัย (Methodology) ทั้งนี้หากใช้ AI สร้างข้อความ ตาราง หรือภาพ จะต้องเปิดเผยคำสั่ง (Prompt) ที่ใช้ หากใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลจะต้องระบุในบทคัดย่อ (Abstract) และวิธีดำเนินงานวิจัย (Methodology)
4. ผู้เขียนสามารถใช้ AI ในการตรวจสอบไวยากรณ์ได้
การใช้ AI สำหรับผู้ประเมิน
1. ผู้ประเมินจะต้องไม่อัพโหลดต้นฉบับหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของบทความไปยัง AI เพราะอาจละเมิด ความลับของผู้แต่ง และสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคล
2. ผู้ประเมินไม่ควรใช้ AI ในการวิเคราะห์และสรุปผลการประเมิน
3. ผู้ประเมินสามารถใช้ AI ในการตรวจสอบไวยากรณ์ได้
การใช้ AI สำหรับบรรณาธิการ
1. บรรณาธิการจะต้องไม่อัพโหลดต้นฉบับหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของบทความไปยัง AI เพราะอาจละเมิด ความลับของผู้แต่ง และสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคล ยกเว้น เครื่องมือเพื่อตรวจจับการใช้ AI สร้างเนื้อหา
2. บรรณาธิการจำเป็นต้องมีเครื่องมือเพื่อตรวจจับ การใช้ AI สร้างเนื้อหา และการแก้ไขภาพหรือข้อความที่ผิดปกติ และเครื่องมือตรวจจับนั้นจะต้องสามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ
3. บรรณาธิการสามารถใช้ AI ในการตรวจสอบไวยากรณ์ได้
การตัดสินบทความที่ใช้ AI
1. วารสารขอปฏิเสธการรับตีพิมพ์บทความที่ใช้เครื่องมือ AI สร้างเนื้อหาทั้งหมด
2. วารสารขอปฏิเสธการรับตีพิมพ์บทความที่ขาดความรับผิดชอบต่อเนื้อหาและขาดเปิดเผยข้อมูลอย่างครบถ้วน
3. ผู้เขียนสามารถโต้แย้งการตัดสินผลการตัดสินบทความที่ใช้ AI ได้ โดยต้องมีหลักฐานโต้แย้งที่ชัดเจน เพื่อใช้ประกอบการอธิบายต่อบรรณาธิการ และกองบรรณาธิการ และสามารถเปลี่ยนผลการพิจารณาการตัดสินบทความที่ใช้ AI ได้หากหลักฐานที่โต้แย้งนั้นมีความชัดเจนและผ่านการเห็นชอบจากกองบรรณาธิการ ทั้งนี้การตัดสินของกองบรรณาธิการถือเป็นที่สิ้นสุด
4. บทความที่ตีพิมพ์ไปแล้วหากพบว่าบทความดังกล่าวขัดต่อนโยบายการใช้ AI นี้ วารสารขอสงวนสิทธิ์การเผยแพร่และบทความจะถูก Retracted บนเว็บไซต์ของวารสารต่อไป
หมายเหตุ แปลและปรับปรุงข้อมูลจาก COPE Council (https://doi.org/10.24318/cCVRZBms) และ World Association of Medical Editors (https://wame.org/page3.php?id=106)
(ปรับปรุงข้อมูลวันที่ 2 เมษายน 2568)