จริยธรรมการตีพิมพ์ผลงานในวารสารวิชาการ (Publication Ethics)

 

 บทนำ

วารสารศิลปะและวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำมูล (Arts and Culture Journal of the Lower Moon River) ได้กำหนดจริยธรรมการตีพิมพ์ผลงานในวารสารวิชาการ (Publication Ethics) ที่สอดคล้องกับมาตรฐานทางจริยธรรมของคณะกรรมการจริยธรรมการตีพิมพ์ (Committee on Publication Ethics : COPE) ประกอบด้วย บทบาทหน้าที่ของ บรรณาธิการ (Editors) ผู้ประเมิน (Reviewers) ผู้แต่ง (Authors) และผู้อ่าน (Readers)

ซึ่งทางวารสารมุ่งหวังว่าผู้ที่เกี่ยวกับการดำเนินงานวารสารจะปฏิบัติตามบทบาทหน้าที่ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้เพื่อให้การดำเนินงานของวารสารเป็นไปด้วยความโปร่งใสและน่าเชื่อถือในวงการวิชาการ ซึ่งบทบาทหน้าที่ของบรรณาธิการ (Editors) บรรณาธิการที่ปรึกษา (Advising Editor) บรรณาธิการ (Editor) บรรณาธิการประจำเรื่อง (Section Editor) กองบรรณาธิการ (Editorial Board) บทบาทหน้าที่ผู้ประเมิน (Reviewers) บทบาทหน้าที่ผู้แต่ง (Authors) มีบทบาทหน้าที่ในการดำเนินงานวารสาร ดังนี้

 1. บรรณาธิการที่ปรึกษา (Advising Editor)

1.1 ศึกษางานวิจัยและงานวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ สืบสาน และเผยแพร่ ศิลปะและวัฒนธรรม แหล่งเรียนรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมถึงทิศทางการพัฒนาคุณภาพของวารสารไทยเพื่อเป็นแนวทางในการปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพของวารสารศิลปะและวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำมูลอย่างต่อเนื่อง

1.2 ให้คำปรึกษา ส่งเสริม และสนับสนุนทรัพยากรในการดำเนินงานวารสารให้ได้มาตรฐานตามเกณฑ์ศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (Thai Journal Citation Index Centre : TCI)

 2. บรรณาธิการ (Editor)

2.1 จัดทำคำแนะนำสำหรับผู้เขียน เกณฑ์การพิจารณาบทความเบื้องต้น รูปแบบการเขียนบทความ การเขียนเอกสารอ้างอิงที่มีมาตรฐานสากล พร้อมทั้งเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์

2.2 พิจารณาประเภทของบทความ ขอบเขตของวารสาร และรูปแบบการเขียนบทความ เบื้องต้นโดยละเว้นและหลีกเลี่ยงการดำเนินงานที่เป็นผลประโยชน์ทับซ้อน

2.3 ตรวจสอบการคัดลอกผลงานของผู้อื่น (Plagiarism) รวมถึงการคัดลอกผลงานของตนเอง (Self-plagiarism) ในบทความ ทั้งนี้ให้พิจารณาปฏิเสธ (Rejected) บทความที่มีการคัดลอกผลงานดังกล่าวทันที

2.4 กำหนดบรรณาธิการประจำเรื่องจากกองบรรณาธิการในการดูแล กำกับและติดตามกระบวนการประเมินคุณภาพของบทความแต่ละเรื่องอย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้

2.5 ติดตามการประเมินคุณภาพของบทความโดยผู้ประเมินให้ตรงตามเวลาที่กำหนดไว้

2.6 ตัดสินผลการพิจารณาคุณภาพของบทความจากผลการประเมิน ดังนี้ 1. การรับตีพิมพ์ (Accepted) ซึ่งจะต้องเป็นไปตามกระบวนการประเมินคุณภาพของบทความ โดยประเมินจากผู้ประเมิน 3 ท่าน และต้องผ่านอย่างน้อย 2 ใน 3 ท่าน 2. การปฏิเสธ (Rejected) จะต้องมีผู้ประเมินปฏิเสธการตีพิมพ์อย่างน้อย 2 ท่าน และแจ้งผู้แต่งพร้อมหลักฐานเชิงประจักษ์

2.7 หากผู้แต่งมีหลักฐานโต้แย้งผลการประเมินให้บรรณาธิการนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาร่วมกับกองบรรณาธิการและแจ้งผลการพิจารณาต่อผู้แต่งทุกครั้ง

2.8 บรรณาธิการจะต้องเป็นบรรณาธิกรตรวจสอบบทความให้ถูกต้อง ครบถ้วนก่อนจัดทำเล่ม และเผยแพร่ผ่านระบบ ThaiJo โดยจะต้องทำการเผยแพร่ให้ตรงตามกำหนดเวลาออกของวารสารอย่างเคร่งครัด

2.9 หากเกิดความผิดพลาดจากการดำเนินงานของวารสารโดยการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของบรรณาธิการนั้น บรรณาธิการจะต้องแสดงความรับผิดชอบ

 3. บรรณาธิการประจำเรื่อง (Section Editor) กองบรรณาธิการ (Editorial Board)

3.1 บรรณาธิการประจำเรื่องจะต้องดูแลกระบวนการประเมินคุณภาพของบทความในแต่ละเรื่องที่ได้รับมอบหมาย ให้ข้อเสนอแนะในการปรับปรุงคุณภาพของบทความ และให้ข้อเสนอแนะการตัดสินผลการพิจารณาคุณภาพของบทความต่อบรรณาธิการ

3.2 ประชุม และพิจารณากำหนดแผนการดำเนินงานวารสาร จัดทำคำแนะนำสำหรับผู้เขียน เกณฑ์การพิจารณาบทความเบื้องต้น รูปแบบการเขียนบทความ การเขียนเอกสารอ้างอิงที่มีมาตรฐานสากล แบบประเมินบทความ และการปรับปรุงการจัดทำวารสารให้มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง

3.3 พิจารณากลั่นกรอง สรรหา คัดเลือก และจัดส่งบทความไปยังผู้ทรงคุณวุฒิที่ตรงกับสาขาวิชาของบทความนั้น ๆ เพื่อการประเมินบทความที่มีคุณภาพและเป็นประโยชน์ทางวิชาการต่อผู้แต่ง และผู้อ่าน

3.4 กำกับดูแลคุณภาพวารสารวิชาการให้เป็นไปตามเกณฑ์ของศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (TCI)

3.5 ประชุมตัดสินผลการพิจารณาบทความที่มีหลักฐานโต้แย้งผลการประเมิน ทั้งนี้จะต้องเป็นไปตามจริยธรรมการตีพิมพ์ผลงานในวารสารวิชาการ

 4. บทบาทหน้าที่ผู้ประเมิน (Reviewers)

4.1 พิจารณาระยะเวลาในการประเมิน และเลือกประเมินบทความที่ตรงตามสาขาวิชาที่ตนมีความเชี่ยวชาญในเนื้อหาของบทความนั้น โดยละเว้นและหลีกเลี่ยงการดำเนินงานที่เป็นผลประโยชน์ทับซ้อน

4.2 ประเมินคุณภาพของบทความวิชาการและบทความวิจัยตามหลักทางวิชาการ และมุ่งพัฒนาคุณภาพวารสารวิชาการให้เป็นไปตามเกณฑ์ของศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (TCI)

4.3 ประเมินบทความและนำส่งผลการประเมินตามระยะเวลาที่กำหนด พร้อมทั้งให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ทางวิชาการต่อผู้แต่ง และผู้อ่าน

4.4 สรุปผลการประเมินคุณภาพบทความ ได้แก่ 1) ยอมรับการตีพิมพ์บทความ 2) ขอให้มีการแก้ไข 3) ส่งใหม่เพื่อประเมินอีกครั้ง และ 4) ปฎิเสธการรับตีพิมพ์บทความ

 5. บทบาทหน้าที่ผู้แต่ง (Authors)

5.1 พิจารณาประเภทของบทความ ขอบเขตของวารสาร และรูปแบบการเขียนบทความ ให้ครบถ้วน ตรวจสอบเนื้อหาของบทความที่เขียนขึ้นว่าเป็นไปตามเกณฑ์การพิจารณาเบื้องต้นของวารสารหรือไม่

5.2 หากประสงค์จะส่งบทความ บทความนั้นจะต้องไม่อยู่ในระหว่างการพิจารณาจากวารสารหรืองานประชุมวิชาการอื่น และไม่เคยตีพิมพ์เผยแพร่ส่วนใดส่วนหนึ่ง เช่น บทคัดย่อ ผลการวิจัย หรือบทความฉบับเต็มในวารสารหรือเอกสารสืบเนื่องจากงานประชุมวิชาการ

5.3 ผู้แต่งจะต้องไม่คัดลอกผลงานของผู้อื่น (Plagiarism) หรือคัดลอกผลงานของตนเอง (Self-plagiarism)

5.4 การจัดส่งบทความจะต้องเป็นไปตามขั้นตอนการดำเนินงานของวารสาร หากสงสัยในการดำเนินงานของวารสารให้ติดต่อสอบถามงานวารสารก่อนทำการจัดส่งผ่านระบบ ThaiJo

5.5 ผู้แต่งสามารถโต้แย้งการตัดสินผลการพิจารณาบทความได้ โดยต้องมีหลักฐานที่ชัดเจน ประกอบการอธิบายต่อบรรณาธิการเพื่อพิจารณาตัดสินผลการพิจารณาบทความอีกครั้ง

5.6 ผู้แต่งจะต้องติดตามบทความผ่านระบบ ThaiJo จนสิ้นสุดกระบวนการของวารสาร

 6. บทบาทหน้าที่ผู้อ่าน (Readers)

6.1 ผู้อ่านสามารถอ่านบทคัดย่อ ดาวน์โหลดบทความวิจัย บทความวิชาการ ฉบับเต็มได้ผ่านระบบ ThaiJo

6.2 หากมีนำข้อความส่วนใดส่วนหนึ่งของบทความในวารสารไปใช้ประโยชน์ ขอให้ผู้อ่านทำการอ้างอิงข้อมูลของบทความให้ครบถ้วน

6.3 หากผู้อ่านพบการคัดลอกผลงานของผู้อื่น (Plagiarism) หรือคัดลอกผลงานของตนเอง (Self-plagiarism) ปรากฎในบทความที่ตีพิมพ์ในวารสารศิลปะและวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำมูล ขอให้แจ้งที่งานวารสารเพื่อจักดำเนินการตรวจสอบอีกครั้ง ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ของวงการวิชาการและเป็นการพัฒนาวารสารให้มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง

 7. การประเมินคุณภาพของบทความ

7.1 บทความที่ส่งเข้ามาจะได้รับการประเมินคุณภาพของผลงานทางวิชาการ โดยผู้ประเมินซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาที่เกี่ยวข้อง จำนวน 3 ท่าน ซึ่งพิจารณาแบบปกปิดรายชื่อทั้งผู้เขียนบทความ ผู้ประเมิน และผู้ที่เกี่ยวข้อง (Double Blind Review)

7.2 ระยะเวลาในการประเมินคุณภาพของบทความเป็นไปตามขั้นตอนการทำงานของวารสาร

7.3 การตัดสินผลการพิจารณาคุณภาพของบทความจากผลการประเมิน ดังนี้ 1. การรับตีพิมพ์ (Accepted) ซึ่งจะต้องเป็นไปตามกระบวนการประเมินคุณภาพของบทความ โดยประเมินจากผู้ประเมิน 3 ท่าน และต้องผ่านอย่างน้อย 2 ใน 3 ท่าน และ 2. การปฏิเสธ (Rejected) จะต้องมีผู้ประเมินปฏิเสธการตีพิมพ์อย่างน้อย 2 ท่าน และแจ้งผู้แต่งพร้อมหลักฐานเชิงประจักษ์

7.4 สามารถโต้แย้งการตัดสินผลการพิจารณาคุณภาพบทความได้ โดยต้องมีหลักฐานโต้แย้งที่ชัดเจน เพื่อใช้ประกอบการอธิบายต่อบรรณาธิการ และกองบรรณาธิการ และสามารถเปลี่ยนผลการพิจารณาคุณภาพของบทความได้หากหลักฐานที่โต้แย้งนั้นมีความชัดเจนและผ่านการเห็นชอบจากกองบรรณาธิการ ทั้งนี้การตัดสินของกองบรรณาธิการถือเป็นที่สิ้นสุด