การประกอบสร้างความหมายตัวละครเมียหลวงร่วมสมัยในละครโทรทัศน์
Main Article Content
บทคัดย่อ
การศึกษานี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ ด้วยการวิเคราะห์ตัวบท (Text) และผู้เกี่ยวข้องเบื้องหลังในการประกอบสร้างโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการประกอบสร้างความหมายของเมียหลวงที่ถูกนำเสนอผ่านละครโทรทัศน์และเพื่อศึกษาความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องเบื้องหลังในการประกอบสร้างตัวละครเมียหลวงในเมีย 2018 โดยในการศึกษาครั้งนี้ ผู้วิจัยได้หยิบยกละครโทรทัศน์เรื่อง “เมีย 2018” ออกอากาศตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2018 ถึง 28 สิงหาคม 2018 ทางช่อง ONE 31 เขียนบทโดย เนปาลี (วรรธนา วีรยวรรธน) และกำกับการแสดงโดย สันต์ ศรีแก้วหล่อ ผลการวิจัยพบว่าละครโทรทัศน์ได้ประกอบสร้างความเป็นจริงให้ตัวละครเมียหลวงที่เป็นตัวละครหลักของละครเรื่อง เมีย 2018 ในหลายชุดความหมาย ซึ่งจะปรากฏออกมาในรูปแบบที่สลับกันของตัวละครที่แปรเปลี่ยนไปตามบทบาทในสถานการณ์ต่าง ๆ ทั้งเมียแบบโบราณอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน ที่มักใช้ชีวิตความเป็นเมียอยู่ในขนบธรรมเนียมเข้าสูตรเมียที่ดีทำหน้าที่ดูแลสามีและลูกของเธอ เป็นกุลสตรีและมีความเป็นแม่บ้านแม่ศรีเรือน ประการต่อไปคือการประกอบสร้างให้อรุณาเป็นผู้หญิงคล่องแคล่วที่ทำงานนอกบ้านและมีบทบาทชัดในเรื่องการงาน โดยส่วนนี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามต่อสู้กับภาพความเป็นเมียในอดีตที่มีพื้นที่หลักในการแสดงบทบาทอยู่ในบ้าน และการเป็นเมียแบบนักบริหารจัดการความสัมพันธ์ อาจกล่าวได้ว่า ละครนั้นได้นำเสนอชุดความหมายของตัวละครอรุณามา 3 ภาพ ซึ่งแต่ละภาพละครก็ทำให้เห็นว่า ‘เมียยุคใหม่’ นั้นมีบริบททางสังคมมากขึ้นกว่าการเป็นแค่เมียในขนบธรรมเนียมเท่านั้น ตัวละครอรุณาจึงไม่ได้ถูกเจาะจงให้เป็นผู้หญิงแบบใดแบบหนึ่งเท่านั้นหากแต่ความเป็นผู้หญิงในตัวอรุณานั้นจะมีความลื่นไหลไปตามสถานการณ์ที่ตัวเธอนั้นพบเจอ ผู้วิจัยพบว่าภาพตัวแทนที่สะท้อนผ่านออกมาทางตัวละครอรุณาในละครโทรทัศน์เรื่องเมีย 2018 เป็นการสลับบทบาทของหลายชุดความหมายที่มีหลายภาพตามบริบทในละคร กล่าวคือ ละครไม่ได้ทำให้ตัวอรุณาทิ้งความเป็นแม่บ้านไปเลยทั้งหมด แต่ละครก็ยังคงให้ภาพของขนบแห่งความคาดหวังบทบาทของเมียตามธรรมเนียมปฏิบัติอยู่เป็นหลัก โดยร่วมประกอบสร้างให้ตัวละครอรุณามีคุณลักษณะของการเป็นนักบริหารจัดการความสัมพันธ์อยู่ด้วย ในส่วนของการวิเคราะห์ผู้ส่งสารแม้ละครเรื่องเมีย 2018 พยายามจะต่อสู้กับขนบของละครแบบเก่าที่เคยนำเสนอมาไม่ว่าจะเป็นการสู้คน การต่อรอง การต่อต้านต่าง ๆ เพื่อให้เข้าใจสภาพความเป็นผู้หญิงในยุคปัจจุบันที่มีอำนาจมากขึ้นจากการทำงานนอกบ้านและไม่ต้องหวังพึ่งผู้ชายอย่างไรก็ตามก็ยังต้องทำละครเพื่อตอบโจทย์ทางการตลาด จุดยืนแรกของการผลิตละครเรื่องนี้ไม่ได้ต้องการท้าทายอำนาจ แต่ต้องการทำอะไรก็ได้ที่เข้าสูตรที่ละครจะสำเร็จซึ่งก็คือการผลิตซ้ำใหม่ (Remake) และทำละครเพื่อกลุ่มผู้ชมผู้หญิงเนื่องจากผู้หญิงนั้นเป็นกลุ่มคนที่ดูละครโทรทัศน์มากที่สุด ผู้วิจัยพบว่าสุดท้ายแล้วละครนั้นก็ยังมีกรอบที่เป็นสูตรสำเร็จของละครน้ำเน่า ไม่ว่าละครจะสร้างเมียยุคใหม่ออกมาให้แตกต่างมากขนาดไหน ความเป็นเมีย เป็นกุลสตรีก็ยังต้องคงเอาไว้เพื่อรักษาขนบธรรมเนียมที่ถูกปฏิบัติกันมาอย่างยาวนาน
Article Details

This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.
ลิขสิทธิ์บทความ
References
ภาษาไทย
กาญจนา แก้วเทพ. (2543). ความเรียงว่าด้วยสตรีกับสื่อมวลชน (พิมพ์ครั้งที่1). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
กาญจนา แก้วเทพ. (2545). สื่อบันเทิง : อำนาจแห่งความไร้สาระ. กรุงเทพฯ: ออล อเบ้าท์ พริ้นท์.
กษิดิ์เดช สุวรรณมาลี. (2560). การเลือกเนื้อหาและการสร้างบทละครโทรทัศน์ในมุมมองของผู้ผลิตและผู้ชม. (สารนิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต), มหาวิทยาลัยกรุงเทพ, คณะนิเทศศาสตร์, สาขาวิชาการบริหารธุรกิจบันเทิงและการผลิต
กำจร หลุยยะพงศ์. (2544). ครอบครัวกับความสัมพันธ์ที่ไม่มีวันแปรเปลี่ยน?. ใน สตรีศึกษา 2 : ผู้หญิงกับประเด็นต่าง ๆ (น.134 - 215). กรุงเทพฯ: คณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานแห่งชาติ (กสส.)
บงกช เศวตามร์. (2533). การสร้างความเป็นจริงทางสังคมของภาพยนตร์ไทย กรณีตัวละครหญิงที่มีลักษณะเบี่ยงเบน ปี พ.ศ.2526 – 2530. (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต), จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ภาควิชาการสื่อสารมวลชน
วรรธนา วีรยวรรธน. ผู้เขียนบทละคร (06 มิถุนายน 2564). สัมภาษณ์.
ศิรสา ชลายนานนท์. (2564). การสื่อสารค่านิยมความเป็นเมียและค่านิยมอื่นของคนไทยในละครโทรทัศน์ยุคดิจิทัลเรื่อง “เมีย 2018”. วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยนครพนม, 11 (1).
สันต์ ศรีแก้วหล่อ. ผู้กำกับละคร (05 มิถุนายน 2564). สัมภาษณ์
อวิรุทธ์ ศิริโสภณา. (2561). การประกอบสร้างความหมายของผู้หญิงที่ถ่ายทอดผ่านตัวละครหญิงในละครโทรทัศน์ไทยยอดนิยมที่ถูกผลิตซ้ำระหว่างปี พ.ศ.2530-2560. วารสารนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมนิด้า, 5 (1).
องอาจ สิงห์ลำพอง. (2557). กระบวนการผลิตละครโทรทัศน์ (พิมพ์ครั้งที่1). กรุงเทพฯ: สามลดา.
Woratangtrakul, D. (2561). ถอดรหัสความสำเร็จ “เมีย 2018” ทุบสถิติเรตติ้งทุกช่องช่วงไพร์มไทม์ ช่อง ONE 31 หวังขึ้นสิ้นปีขยับขึ้นเบอร์ 4 ทีวีดิจิทัล. สืบค้น 2 มิถุนายน 2564 จาก https://www.brandbuffet.in.th/2018/08/key-successes-mia-2018-break-all-rating-of-one31/.
ภาษาต่างประเทศ
Hall, S. (1997). Representation: Cultural Representations and signifying Practices, London: SAGE Publications.