หลักนิติธรรมกับสอบสวนคดีอาญาในประเทศไทย
Main Article Content
บทคัดย่อ
กระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่มีกระบวนการตรวจสอบค้นหาความจริงในคดีที่สามารถลงโทษให้เหมาะสมกับตัวบุคคลที่กระทำความผิดได้ เป็นกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่มีประสิทธิภาพดีที่สุด ภายใต้หลักนิติธรรม เป็นสำคัญ งานสอบสวนคดีอาญาเป็นต้นทางของการรวบรวมพยานหลักฐานที่สำคัญในคดีในข้อเท็จจริงที่ยืนยันความผิดหรือบริสุทธิ์ของผู้ต้องหาหรือจำเลย ซึ่งมีผลต่อรูปคดีในชั้นพิจารณาและพิพากษา ในศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฏีกา งานนี้จึงมีวัตถุประสงค์คือ 1.เพื่อศึกษาวิเคราะห์การสอบสวนคดีอาญาที่เป็นไปตามหลักนิติธรรมในประเทศไทย 2.เพื่อศึกษาวิเคราะห์เปรียบเทียบการสอบสวนคดีอาญาที่เป็นไปตามหลักนิติธรรมในประเทศไทยกับประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีและสาธารณรัฐฝรั่งเศส
จากการศึกษาพบว่า ภายใต้หลักนิติธรรมหรือหลักนิติรัฐ กระบวนการยุติธรรมต้องทำการตรวจสอบค้นหาความจริงแท้ (Examination Principle) อย่างครบถ้วน 2 ประการคือ ข้อเท็จจริงของการประทำความผิด และ ข้อเท็จจริงของตัวผู้กระทำความผิด และส่งผ่าน “ความจริงแท้” ทั้ง 2 ประการดังกล่าว ไปในชั้นพิจารณาให้กับผู้พิพากษาเพื่อการใช้ดุลพินิจในการลงโทษให้เหมาะสมกับบุคคล (Individualization of punishment) โดยมีข้อเสนอแนะว่า การจะลงโทษให้เหมาะสมกับบุคคลได้ การสอบสวนต้องกระทำอย่างละเอียดรอบคอบภายใต้หลักกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและหลักนิติธรรม เพื่อให้ผู้ใช้ดุลยพินิจพิจารณาพิพากษาลงโทษการสอบสวนจึงจำต้องยึดหลักนิติธรรมเป็นกรอบความคิดและการทำงานเป็นพื้นฐาน เพื่อให้ได้คำพิพากษาที่อยู่บนพื้นฐานข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงที่ได้จากการใช้ “หลักตรวจสอบค้นหาความจริง” (Examination Principle) อย่างเป็นกระบวนการเพื่อการตัดสินคดีเข้าสู่ “ความเที่ยงธรรม” ในการพิพากษาคดีเป็นรายบุคคลได้จริง เพื่อให้เกิดการใช้ “มาตรการบังคับทางอาญา” ให้เหมาะสมกับบุคคลในที่สุด