การออกแบบแผนการจัดการเรียนรู้โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นฐาน เรื่อง ปลาร้าข้าวคั่ว ชุมชนประจันตคาม
คำสำคัญ:
แผนการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์, ภูมิปัญญาท้องถิ่น, ปลาร้าข้าวคั่วบทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อศึกษาองค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นการทำปลาร้าข้าวคั่วของชุมชนประจันตคาม โดยมุ่งเน้นกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ แหล่งเรียนรู้ชุมชนและปราชญ์ชาวบ้าน 2) เพื่อนำองค์ความรู้มาสร้างแผนการจัดการเรียนรู้รายวิชาวิทยาศาสตร์ โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นฐานกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยเป็นปราชญ์ชาวบ้านผู้ผลิตปลาร้าข้าวคั่วของ ชุมชนประจันตคาม จำนวน 2 ท่าน ได้แก่ นางแฉล้มและนางลัก โดยการเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ 1) แบบสัมภาษณ์เชิงลึก 2) แบบประเมินค่าดัชนีความสอดคล้อง (IOC) เพื่อตรวจสอบคุณภาพของแผนการจัดการเรียนรู้ วิเคราะห์ข้อมูลโดยการนำข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์ปราชญ์ชาวบ้านมาพิจารณาร่วมกับข้อมูลที่ได้จากการศึกษาหลักการทางวิทยาศาสตร์การทำปลาร้าข้าวคั่ว แล้วนำมาวิเคราะห์องค์ความรู้ที่ได้จากการศึกษาและวิเคราะห์ค่าดัชนีความสอดคล้อง (IOC) ของแผนการจัดการเรียนรู้ โดยค่าดัชนีความสอดคล้องมีค่า 0.50 ขึ้นไป แสดงว่าแผนการจัดการเรียนรู้นั้นมีคุณภาพ
ผลการวิจัยพบว่า 1) องค์ความรู้ที่ได้จากการศึกษาการทำปลาร้าข้าวคั่ว คือ การหมักเกลือและข้าวคั่วคลุกเคล้าให้เข้ากับเนื้อปลาเชื่อมโยงกับหลักการวิทยาศาสตร์เรื่อง การหายใจระดับเซลล์และการหมักโดยเกลือและข้าวคั่ว 2) ผลการออกแบบแผนการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นฐาน พบว่า การนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาจัดกิจกรรมการเรียนการสอน สามารถส่งเสริมให้นักเรียนเชื่อมโยงความรู้จากกิจกรรมมาสู่บทเรียนวิทยาศาสตร์เกิดการเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติจริง 3) ผลการประเมินคุณภาพแผนการจัดการเรียนรู้ พบว่า ผลรวมค่าดัชนีความสอดคล้องจากผู้เชี่ยวชาญทั้ง 3 ท่าน = 0.94 ซึ่งมีค่ามากกว่า 0.50 ขึ้นไป แสดงว่า แผนการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นฐาน เรื่อง ปลาร้าข้าวคั่ว ชุมชนประจันตคาม มีคุณภาพสามารถนำไปใช้จัดการเรียนการสอนได้