ทำตามลำดับขั้น : การศึกษาเชิงวิเคราะห์ วิจักษ์ และวิธาน

ผู้แต่ง

  • เมธา หริมเทพาธิป มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
  • ชัยโรจน์ นพเฉลิมโรจน์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
  • วัชรารัศมิ์ สุนทรวนาเวศ ฌ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

คำสำคัญ:

ทำตามลำดับขั้น, หลักการทรงงาน, วิเคราะห์ วิจักษ์ วิธาน

บทคัดย่อ

บทความวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ วิจักษ์ และวิธานหลักการทรงงานข้อทำตามลำดับขั้น วิธีการศึกษาเป็นแบบเชิงคุณภาพ โดยศึกษาค้นคว้าและรวบรวมข้อมูลจากเอกสาร และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับหลักการทรงงานในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ผลการวิจัยพบว่า 1. ผลการวิเคราะห์ พบว่า ในการทรงงานของพระองค์จะทรงเริ่มต้นจากสิ่งที่จำเป็นของประชาชนที่สุดก่อน ได้แก่ สาธารณสุข เมื่อมีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงแล้วก็จะสามารถทำประโยชน์ด้านอื่น ๆ ต่อไปได้ จากนั้นจะเป็นเรื่องสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานและสิ่งจำเป็นในการประกอบอาชีพ อาทิ ถนน แหล่งน้ำ เพื่อการเกษตร การอุปโภค บริโภค ที่เอื้อประโยชน์ต่อประชาชนโดยไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงการให้ความรู้ทางวิชาการและเทคโนโลยีที่เรียบง่าย เน้นการปรับใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ราษฎรสามารถนำไปปฏิบัติได้และเกิดประโยชน์สูงสุด 2. ผลการวิจักษ์ พบว่า การทำตามลำดับขั้นก่อให้เกิดการจัดลำดับความสำคัญของงาน ช่วยสร้างพื้นฐานการทำงานที่มั่นคงที่สามารถรองรับการขยายผลของงานในอนาคต ช่วยให้เกิดความประหยัด ดำเนินงานได้อย่างเรียบง่าย ไม่ซับซ้อนจนเกินไป ทำให้งานดำเนินไปตามวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายที่วางไว้ ช่วยลดอุปสรรคต่าง ๆ ในระหว่างการดำเนินงาน และช่วยให้ทุกหน่วยงานรู้ภาระหน้าที่ความรับผิดชอบที่เกิดขึ้น เกิดการทำงานที่ประสานสอดคล้อง ไม่ก้าวก่ายงานของกันและกัน แต่ช่วยเสริมกันและกันตามบทบาทหน้าที่ที่แต่ละหน่วยงานรับผิดชอบ 3. ผลการวิธาน พบว่า แนวทางการนำหลักการทรงงานข้อนี้ไปประยุกต์ใช้ สามารถประยุกต์ใช้ได้ดังนี้ 1) เริ่มต้นจากสิ่งจำเป็นพื้นฐาน 2) สำรวจความคิดเห็นก่อนการดำเนินงาน 3) วิเคราะห์ความเป็นไปได้จากทุกทาง 4) วางแผนอย่างรอบคอบและรัดกุม 5) ดำเนินงานตามแผนอย่างเป็นระบบ 6) ติดตามและประเมินผลเพื่อปรับปรุงและพัฒนา

References

ชัยโรจน์ นพเฉลิมโรจน์. (2558). “หลักคุณภาพในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริกับปรัชญาหลังนวยุค : การศึกษาเชิงวิเคราะห์ วิจักษ์ และวิธาน”. วิทยานิพนธ์ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต. บัณฑิตวิทยาลัย : มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา.

ชัยโรจน์ นพเฉลิมโรจน์. (2564). คิดอย่างไรให้ได้นวัตกรรม. กรุงเทพฯ : ม.ป.ท.

________. (2565). “การคิดนวัตกรรมด้วยหลักการทรงงานตามหลักปรัชญาหลังนวยุค”. วารสารการวิจัยเพื่อพัฒนาชุมชน. พิษณุโลก : มหาวิทยาลัยนเรศวร. ปีที่ 15 ฉบับที่ 2. (เมษายน – มิถุนายน).

เมธา หริมเทพาธิป. (2564). สังคมแห่งการแบ่งปันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง : การศึกษาเชิงวิเคราะห์ วิจักษ์ และวิธาน. รายงานการวิจัย. บัณฑิตวิทยาลัย : มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา.

________. (2566). “การศึกษาตามหลักปรัชญาหลังนวยุคสายกลาง : วิเคราะห์จากหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (ตอนที่ 1)”. สถาบันความพอเพียง. สืบค้นเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2566 จาก http://porpeang.net/

สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ. (2560). แนวคิดและทฤษฎีการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ : หจก.อรุณการพิมพ์.

เผยแพร่แล้ว

12/31/2023