Journal Information
ปีที่ 2 ฉบับที่ 1 (2019): วารสารวิจัยธรรมศึกษา ปีที่ 2 ฉบับที่ 1 (มกราคม - มิถุนายน 2562)
ปี พ.ศ. 2562 เป็นปีที่ 2 ของวารสารวิจัยธรรมศึกษา ศูนย์วิจัยธรรมศึกษา สำนักเรียนวัดอาวุธวิกสิ ตาราม กองบรรณาธิการได้ดำเนินการวารสารให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน TCI มาอย่างต่อเนื่อง โดยได้ตรวจประเมินผลงานวิชาการจากผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายหน่วยงานเช่นเคย ทั้งนี้ เพื่อรักษามาตรฐานทางวิชาการนั่นเอง
วารสารวิจัยธรรมศึกษาฉบับนี้ได้นำเสนอผลงานของนักวิชาการจากหน่วยงานต่างๆ ที่น่าสนใจดังนี้
- ข้อยืนยันสาระสำคัญของอภิปรัชญาเชน (The essential testimony of the Jainism Metaphysic) โดย พระจาตุรงค์ ชูศรี สรุปว่า อภิปรัชญาเชนมี 2 ประเด็น คือ 1) ทฤษฎีอเนกันตวาท ที่มีสำคัญมีอยู่ 2 ลักษณะ คือ 1. ปรัชญาเกี่ยวกับความจริงที่รู้กันได้โดยสามัญสำนึก 2.ปรัชญาเกี่ยวกับความจริงที่รู้กันได้หลายแง่มุม โดยชี้ให้เห็นว่า อภิปรัชญาของเชนมีลักษณะเป็นพหุสัจนิยม (Pluralistic realism) หรือ สัมพัทธนิยม (Relativistic realism) และ 2) เชนถือว่า ทรัพยะ(Substance) หรือสสารหรือความจริงแท้มี 9 อย่าง แต่เมื่ถอประมวลความแล้วมีนัยเป็น 2 คือสสารและอสาร
- ธรรมะกับการทำงาน : ทำงานอย่างไรให้มีความสุข (Dharma and Work: How to Work Happily) โดย มนัสวี ศรีนนท์ และ พระมหามฆวินทร์ ปุริสุตฺตโม ผลการศึกษา พบว่า ธรรมะกับการทำงานนั้นเป็นไปด้วยกันได้ เพราะธรรมะช่วยทำให้งานที่ทำสำเร็จได้ พร้อมกันนี้ ธรรมะยังช่วยทำให้ผู้ทำงานไม่เกิดความเบื่อหน่ายในงานและเกิดความปรารถนาที่จะทำงานให้บรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้ ส่วนการทำงานให้มีความสุขนั้นต้องเป็นทำงานที่ประกอบด้วยหลักอิทธิบาท 4 เมื่องานสำเร็จแล้ว ผู้ทำงานย่อมเกิดความพอใจในงาน และเมื่องานสำเร็จแล้วย่อมได้ประโยชน์และอานิสงส์
- มองมุมใหม่เพื่อความเข้าใจจารวาก (Examining for a new aspect to understanding Carvaka) โดย อานนท์ อุ่นธง สรุปว่า แนวคิดของปรัชญาอินเดียทุกระบบ นอกจากแนวคิดของจารวากแล้วล้วนถือเอาความหลุดพ้นเป็นจุดหมายสูงสุดของชีวิต และจารวากก็ถือเอาความเพลิดเพลินทางกามารมณ์ ความสุขทางกามารมณ์ และความสนุกสนานเพลิดเพลิน เป็นอุดมคติของชีวิตและเป็นยอดของความปรารถนาของมนุษย์ โดยหากมนุษย์ไม่แสวงหาความสุขทางประสาทสัมผัสขณะเมื่อยังมีชีวิตอยู่ การเกิดมาเป็นมนุษย์จะมีประโยชน์อะไร
- ม่อจื่อ : ผู้ปรารถนาโลกแห่งภราดรภาพ (Mo Zhi : Who aspire the world of fraternity) โดย พนมกร คำวัง สรุปว่า ม่อจื่อเป็นนักปฏิบัตินิยม ชอบดำรงตนตามแบบวิถีปรัชญาแห่งตน และเขาชอบขวางกั้นกระแสวัฒนธรรมแบบเดิม แต่ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะคนในสังคมมีความเชื่อบางอย่างฝังรากมานาน ส่วนภราดรภาพในแบบของม่อจื่อนั้นคือการที่เขามีแนวคิดที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการทำสงครามอย่างชัดเจน ถึงแม้ในยุคสมัยของเขานั้นจะหลีกเลี่ยงสงครามไม่ได้ก็ตาม ดังนั้น ม่อจื่อจึงอยากเห็นสงครามที่ยุติธรรม และเขาเองก็ต่อต้านสงครามที่เป็นไปในลักษณะปลาใหญ่กินปลาเล็ก รัฐเข้มแข็งรังแกรัฐอ่อนแอ
- วัฒนธรรมองค์การที่มีผลต่อการปฏิบัติงาน (The effect of organization culture to working performances) โดย จักรี ศรีจารุเมธีญาณ และ ชุติมา ศรีจารุเมธีญาณ สรุปว่า วัฒนธรรมองค์การเน้นความสัมพันธ์ที่ส่งผลถึงระดับประสิทธิผล ของการปฏิบัติงานภายในองค์การ เนื่องจากมีความเชื่อและค่านิยมของบุคลากรนั้นสามารถส่งผลได้จากการนำความเชื่อมั่นในระดับสูงภายในองค์การ และความไว้วางใจต่อพันธกิจ ค่านิยม และความเชื่อ ซึ่งส่งผลต่อการสร้างความร่วมมือระหว่างบุคลากรในองค์การ นำความเชื่อมั่น ความคิด ค่านิยมไปปฏิบัติตามกรอบแนวคิดที่องค์การได้วางไว้โดยเฉพาะความเชื่อและค่านิยมหลักที่มีความสอดคล้องกับนโยบายและการปฏิบัติงานภายในองค์การ ซึ่งความสัมพันธ์ที่ทำให้เกิดการปฏิบัติงานต่อการสร้างประสิทธิผลในการทำงานขององค์การ ได้แก่ การนำวิสัยทัศน์ ของผู้ก่อตั้งองค์การไปสู่การปฏิบัติให้สามารถเกิดขึ้นได้จริง รวมถึงการสร้างและพัฒนาวัฒนธรรมขึ้นมาเพื่อให้มีความแข็งแกร่ง อันจะส่งผลต่อพฤติกรรมการทำงานของบุคลากรในองค์การนั้นๆที่แสดงออกมาให้ความสอดคล้องกับสิ่งที่องค์การได้วางไว้อันจะนำไปสู่การปฏิบัติงานที่ได้ผล ทำให้องค์การมีการปฏิบัติงานได้ดีขึ้น
เผยแพร่แล้ว:
02/13/2022