ปีที่ 4 ฉบับที่ 1 (2021): วารสารวิจัยธรรมศึกษา ปีที่ 4 ฉบับที่ 1 (มกราคม - มิถุนายน 2564)

วารสารวิจัยธรรมศึกษา

พ.ศ. 2564 นับว่าเป็นปีที่ 4 ในการจัดพิมพ์วารสารวิจัยธรรมศึกษา ศูนย์วิจัยธรรมศึกษา สำนักเรียนวัดอาวุธวิกสิตาราม โดยทางกองบรรณาธิการได้บริหารจัดการวารสารให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน TCI มีการตรวจประเมินผลงานวิชาการจากผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายหน่วยงาน กล่าวคือมีการเชิญผู้ทรงคุณวุฒิ 2 รูป/คน ประเมิน 1 บทความ เพื่อเป็นการรักษามาตรฐานทางวิชาการนั่นเอง และในโอกาสต่อไป เมื่อวารสารได้การรับรองคุณภาพจาก TCI แล้ว ก็จะเน้นการบริหารวารสารทั้งในเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณให้เรียบร้อยและมีประสิทธิภาพประสิทธิผลต่อไป

วารสารวิจัยธรรมศึกษาฉบับนี้ได้นำเสนอผลงานของนักวิชาการจากหน่วยงานต่างๆ ที่น่าสนใจดังนี้

  1. การศึกษาเชิงวิเคราะห์เรื่องพุทธจิตวิทยาการสอนในพุทธปรัชญาเถรวาท (An Analytical Study of the Buddha?s Pedagogical Psychology in Theravada Buddhist Philosophy) โดย ธรรมศักดิ์ กาญจนบูรณ์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ผลการศึกษาวิเคราะห์ พบว่า 1) จิตวิทยาการสอนของนักปรัชญาและนักจิตวิทยาแต่ละท่านมีพัฒนาการมาหลายช่วงยุคสมัยตามระบบสังคมที่แปรเปลี่ยนไปซึ่งนักจิตวิทยาแต่ละท่านจะมีทรรศนะในการใช้จิตวิทยาการสอนที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งนักจิตวิทยาแต่ละท่านจะมีแนวคิดที่มุ่งเน้นในด้านที่ตนเองค้นคว้า จึงทำให้เกิดแนวคิดของนักจิตวิทยากลุ่มต่างๆออกมามากมาย  นักจิตวิทยาบางกลุ่มจะมุ่งเน้นในด้านจิตนิยม บางกลุ่มจะมุ่งไปที่พฤติกรรมนิยม และบางกลุ่มจะกำหนดสภาพแวดล้อมเพื่อเป็นปัจจัยในการเรียนรู้ แม้ว่าในแต่ละกลุ่มจะมีแนวทางปฏิบัติที่ไม่เหมือนกันแต่ก็มีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือเพื่อทำความเข้าใจของพฤติกรรมการเรียนรู้ของบุคคลในแต่ละบุคคลรวมถึงสามารถกำหนดพฤติกรรมการเรียนรู้ให้สำเร็จตามคุณลักษณะอันพึงประสงค์ 2) พุทธจิตวิทยาการสอนที่ปรากฏในพุทธปรัชญาเถรวาทนั้นมีรูปแบบและแนวทางปฏิบัติที่เป็นแบบแผนมาแต่อดีตยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ผ่านมานานแล้วก็ตาม แต่มีโครงสร้างที่ลึกซึ้ง ละเอียด และครอบคลุมในหลายด้าน ซึ่งจะมีทั้งลีลาการสอนที่มีลักษณะแตกต่างกันออกไป ทั้งยังกล่าวถึงเรื่องของจริต ทั้ง 6 ที่จะมามีบทบาทในการหาความเหมาะสมของเรื่องที่จะสอนว่าสอดคล้องกับจริตประจำตัวของผู้ฟังหรือไม่ รวมถึงเรื่องราวของคำสอนที่เกี่ยวกับนวังคสัตถุศาสน์ ที่มีรูปแบบการสอนที่เป็นแนวทางซึ่งได้กำหนดไว้อย่างเป็นขั้นเป็นตอนเข้าใจได้ง่ายและแบ่งได้หลายระดับตามแต่ผู้ที่เข้ามาฟังธรรมเทศนา โดยที่สามารถนำมาใช้ได้กับสังคมยุคปัจจุบันได้เป็นอย่างดี 3) พุทธจิตวิทยาการสอนที่ปรากฏในพุทธปรัชญาเถรวาท แม้ว่าจะผ่านมานานแล้วก็ตาม แต่ก็ยังสามารถนำมาปรับใช้ในสังคมปัจจุบันได้เป็นอย่างดี แม้ว่าหลักจิตวิทยาการสอนของนักจิตวิทยาจะมีการปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อการนำไปใช้ในด้านการเรียนการสอนของสังคมสมัยใหม่ ซึ่งการสอนในรูปแบบหลักสูตรที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนั้น ยังไม่สามารถสร้างเสริมการเรียนรู้ของเด็กให้ตรงตามจุดประสงค์เท่าที่ควร และเมื่อได้ศึกษาหลักคำสอนตามแนวพุทธศาสนาก็พบว่า มีหลักการ รูปแบบ และวิธีการ ที่น่านำมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของครูผู้สอนเป็นอย่างยิ่ง เรื่องของพุทธจิตวิทยาการสอนจึงเป็นเรื่องของวิธีการ รูปแบบ ลีลาการสอน โดยไม่ได้มุ่งประเด็นไปที่เรื่องที่ทรงสอนว่าสอนเรื่องอะไร แต่จะมองไปที่วิธีการที่พระพุทธองค์ทรงสอนว่า มีหลักในการเลือกใช้วิธีการสอนอย่างไรบ้าง และแต่ละบุคคลควรสอนอย่างไร วิธีการอะไร มีอุบายอย่างไรมากกว่า
  2. ศึกษาความรู้เรื่องความตายของชาวพุทธในยุคปัจจุบัน : ศึกษาเฉพาะกรณีหมู่บ้านมหามงคล 2 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม (A Study of Modern Buddhists? Knowledge in Death : A Case Study of Mahamongkol Village 2 Salaya, Buddhamonthon District, Nakhon Pathom Province) โดย สุรพงษ์ กุมาร บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย และ พูนศักดิ์ กมล มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ผลการวิจัย พบว่า 1. ความรู้เรื่องความตายของชาวพุทธหมู่บ้านมหามงคล 2 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม โดยรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด ได้แก่ ความหมายความตาย รองลงมาได้แก่ อารมณ์ของผู้ใกล้ตาย สาเหตุของความตาย ประโยชน์ที่เกิดจากการพิจารณาความตาย ประเภทของความตาย ปรากฏการณ์ก่อนตาย และด้านที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุดได้แก่ วิธีพิจารณาความตาย ตามลำดับ 2. ผลการทดสอบสมมติฐาน พบว่า เพศ อายุ วุฒิการศึกษาทางโลก และวุฒิการศึกษาทางธรรม ของชาวพุทธหมู่บ้านมหามงคล 2 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ไม่มีความสัมพันธ์กับความรู้เรื่องความตาย 3. ข้อเสนอแนะ พบว่า การตายเป็นเรื่องปกติ ชีวิตเกิดมาก็ย่อมต้องตาย ไม่มีสิ่งใดอยู่ได้ โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง และไม่มีผู้ใดไม่เป็นทุกข์ เมื่อความตายมาถึง ดังนั้น จึงควรทำความดีตามแนวคำสอนของพุทธศาสนา จึงไม่ควรกลัวที่จะตายจงพร้อม และทำจิตใจให้สงบเมื่อวาระแห่งความตายมาถึง
  3. วิเคราะห์ธรรมชาติของสสาร (Analyzing the Nature of Matter) โดย วิธวินท์ ภาคแก้ว พระครูจารุสารธรรม นักวิชาการอิสระ และ มนัสวี ศรีนนท์ สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล สรุปได้ว่า ธรรมชาติของสสารนั้นสามารถนำมาปรับใช้กับการดำเนินชีวิตได้ทั้งทางด้านครอบครัว ประเทศชาติ ไม่เฉพาะแต่ในฝั่งตะวันตกหรือตะวันออกเท่านั้น หากแต่ยังใช้ได้กับฝั่งเอเชียและทั่วทั้งโลกอีกด้วย จึงนับว่าเป็นทางอันจะนำไปสู่สังคมโลกที่สงบ สันติ และยั่งยืนต่อไป
  4. วิเคราะห์การใช้ยาตามพุทธานุญาตกับรสยาตามคัมภีร์แพทย์แผนไทย (Analysis of the Drug Use According to the Buddha?s Permission and the Taste of Drugs Based on the Thai Traditional Medicine Scriptures) โดย นภาพร กิตติศักดิ์ไพรัช นักวิชาการอิสระ สรุปว่า การวิเคราะห์การใช้ยาตามพุทธานุญาตกับรสยาตามคัมภีร์แพทย์แผนไทยเรื่องนี้ ผู้เขียนได้ทำการศึกษาโดยการเทียบกับรสยาในคัมภีร์เวชศึกษาเป็นหลัก คือ รสยา 10 รส เพราะรสยา 10 รส เป็นรสที่การแพทย์แผนไทยนำมาใช้ในการรักษาโรค ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า พระพุทธานุญาตเภสัชที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้สามารถบ่งบอกรสยาได้จากสรรพคุณของเภสัชนั้น ๆ ได้ เพราะเภสัชต่าง ๆ ที่ตรัสมีไว้เพื่อรักษาการอาพาธของภิกษุผู้เป็นสาวกและเพื่อรักษาพระองค์เองด้วยนั่นเอง
  5. บทวิจารณ์หนังสือเรื่อง ?ปริศนาปรัชญาธรรมในประเพณีบำเพ็ญกุศลศพ? เขียนโดย สุขพัฒน์ อนนท์จารย์ (Review of the Book on "Mystery of Philosophy in the Funeral Tradition" Written by Sukaphat Anonchan) โดย ศิริเพ็ญ ชัยสนิท โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม และ พระมหามฆวินทร์ ปุริสุตฺตโม ศูนย์วิจัยธรรมศึกษา สำนักเรียนวัดอาวุธวิกสิตาราม สรุปว่า หนังสือเรื่อง ?ปริศนาปรัชญาธรรม ในประเพณีบำเพ็ญกุศลศพ? ผู้เรียบเรียง : ดร.สุขพัฒน์ อนนท์จารย์ เป็นหนังสือที่เกี่ยวกับปริศนาในงานศพโดยเฉพาะ ผู้เขียนได้รวบรวมปริศนาธรรมทางพระพุทธศาสนาไว้ในเล่มเดียวกัน และได้รวบรวมขึ้นมาในโอกาสที่ผู้เขียนได้สูญเสียบุคคลสำคัญในชีวิตไป เฉพาะเรื่องปริศนาปรัชญาธรรมใน งานศพ เคยตีพิมพ์ไปแล้วครั้งหนึ่ง แต่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของหนังสือปริศนา ปรัชญาธรรม เนื้อหาไม่มากนัก โดยสำนักพิมพ์ ลูก ส.ธรรมภักดี จัดพิมพ์ เมื่อปี พ.ศ. 2546 ได้รับการตอบรับจากผู้สนใจเป็นอย่างดียิ่ง ผู้เขียนจึงได้รวบรวม หนังสือเล่มนี้ขึ้นมาใหม่ต่างหาก เอาเฉพาะเนื้อหาที่เป็นปริศนาปรัชญาธรรม ในประเพณีการบำเพ็ญกุศลศพเท่านั้น และได้เพิ่มเติมเนื้อหาบางส่วน สำหรับเล่มนี้มีข้อมูลทางบรรณานุกรมหอสมุดแห่งชาติ สำนักพิมพ์ ลูก ส. ธรรมภักดี, 2552 จำนวน 75 หน้า ข้าพเจ้าสนใจ จึงยกบางประเด็นขึ้นมาวิจารณ์
เผยแพร่แล้ว: 05/29/2021

บทความวิชาการ

บทวิจารณ์หนังสือ