Journal Information
ปีที่ 1 ฉบับที่ 2 (2018): วารสารวิจัยธรรมศึกษา ปีที่ 1 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม - ธันวาคม 2561)
การจัดพิมพ์วารสารวิจัยธรรมศึกษา ศูนย์วิจัยธรรมศึกษา สำนักเรียนวัดอาวุธวิกสิตาราม ฉบับที่ 2 ในปี พ.ศ. 2561 ปีที่ 1 นี้ กองบรรณาธิการได้ดำเนินการให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน TCI เช่นที่ดำเนินการมาแล้วในฉบับที่ 1 โดยมีการตรวจประเมินผลงานวิชาการอย่างรอบด้านจากผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายหน่วยงาน เป็นผลงานที่ไม่ละเมิดจริยธรรมทางวิชาการ มีการเชิญผู้ทรงคุณวุฒิ 2 รูป/คน ประเมิน 1 บทความ และผู้ทรงคุณวุฒิ 1 รูป/คน จะประเมินบทความได้เพียง 1 บทความเท่านั้น
วารสารวิจัยธรรมศึกษาฉบับนี้ได้นำเสนอผลงานของนักวิชาการจากหน่วยงานต่างๆ ที่น่าสนใจดังนี้
- ทัศนะเรื่องคุณค่าทางสังคมในประเพณีสารทเดือนสิบ (The Perceptions of Social Value in Sard Deun Sib Festival) โดย พระอนุพงษ์ ธนปาโล (คำเอี่ยม) สรุปว่า บทความนี้มีชื่อว่า ทัศนะเรื่องคุณค่าทางสังคมในประเพณีสารทเดือนสิบ (ชิงเปรต) ในการศึกษาทัศนะเรื่องคุณค่าทางสังคมในประเพณีสารทเดือนสิบ (ชิงเปรต) ซึ่งถือว่าเป็นประเพณี ที่มีนานนับตั้งแต่สมัยยุคของราชวงศ์สุโขทัย ตามที่ปรากฏหลักฐานในหนังสือนางนพมาศ เนื่องจากศาสนาพราหมณ์แพร่เข้ามาในประเทศไทย คนไทยจึงรับประเพณีวันสารทมาจากศาสนาพราหมณ์ด้วย ดังปรากฏหลักฐานในหนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือน ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นประเพณีสำคัญที่จัดขึ้นเพื่อทำบุญอุทิศแก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว พระยาอนุมานราชธนได้กล่าวไว้ในสารานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานว่าการชิงเปรตที่ปฏิบัติกันในประเพณีสารทเดือนสิบนี้ มีลักษณะคล้ายกับการทิ้งกระจาดของจีน แต่การทิ้งกระจาดของจีนมีเป้าหมายตรงกับการตั้งเปรต-ชิงเปรตเพียงบางส่วนเท่านั้น กล่าวคือการทิ้งกระจาดของจีนเป็นการทิ้งทานให้แก่พวกผีไม่มีญาติ ส่วนการชิงเปรตของไทยเป็นการอุทิศส่วนกุศลไปให้ทั้งผี (เปรต) ที่เป็นญาติพี่น้องของตนเอง และที่ไม่มีญาติด้วย
- วิเคราะห์หลักสุนทรียศาสตร์ในประเพณีตักบาตรเที่ยงคืน (Analyze of Aesthetic Principles in the Midnight Giving Alms Tradition) โดย พระประสาน ชยาภิรโต สรุปว่า ประเพณีตักบาตรเที่ยงคืนเป็นประเพณีเก่าแก่ที่สืบทอดกันมานานกว่าร้อยปี โดยมีความเชื่อทางพุทธศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งประวัติความเป็นมาที่แท้จริงเกิดขึ้นเมื่อใด และอย่างไรไม่สามารถสืบค้นได้ เพียงแต่พุทธศาสนิกชาวเหนือได้สืบทอดความเชื่อกันมาอย่างยาวนานและถือปฏิบัติกันอย่างแพร่หลายในภาคเหนือของประเทศไทย บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงความเชื่อประเพณีการตักบาตรเที่ยงคืนของพุทธศาสนิกชาวเหนือว่าเป็นอย่างไร อาศัยอะไรเป็นเหตุความเชื่อ ความศรัทธาในประเพณีนี้ และได้วิเคราะห์ตามหลักสุนทรียศาสตร์ในประเพณีตักบาตรเที่ยงคืนไว้เพื่อเป็นความรู้แก่ผู้สนใจ
- การศึกษาวิเคราะห์เรื่องผู้บริหารในแนวคิดและทฤษฎีของพุทธปรัชญา (An Analytical Study of Concepts and Theories of the Administrator based on the Buddhist Philosophy) โดย พระสุพัฒน์ ปุญญมโน สรุปว่า แนวคิดและทฤษฎีของพุทธปรัชญาเป็นหลักคำสอนที่พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อตรัสรู้แล้ว ก็ได้นำออกมาเผยแผ่แก่ประชาชน พร้อมกันนี้ พระองค์ได้ทรงใช้หลักพุทธปรัชญาในการบริหารจัดการคณะสงฆ์ตั้งแต่อดีตเป็นต้นมา จึงทำให้หลักคำสอนของพระพุทธองค์เป็นที่ยอมรับเรื่อยมา แต่จากสถานการณ์ในยุคปัจจุบัน การพัฒนาด้านเทคโนโลยีได้รับการเน้นมากกว่าด้านอื่นๆ จนทำให้เกิดการมองข้ามศีลธรรมจริยธรรม และทำให้เกิดปัญหาสังคมตามมาอย่างมากมาย ตลอดทั้งการบริหารองค์กรต่างๆ ก็ขาดประสิทธิภาพ ประสบความล้มเหลว ผู้บริหารและบุคลากรไร้คุณธรรมจริยธรรมด้วย ดังนั้น แนวคิดและทฤษฎีของพุทธปรัชญาจึงมีความจำเป็นที่ผู้บริหารองค์กรควรที่จะได้นำมาใช้ในองค์กร เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่องค์กรและส่วนรวมนั่นเอง
- ศึกษาวิเคราะห์ผู้บริหารในแนวคิดและทฤษฎีตะวันตกและตะวันออก (An Analytical Study on Concepts and Theories of Administrator in the Western and the Eastern) โดย พระมหาสุขชาน ชาครธมฺโม สรุปว่า แนวคิดทั้ง 2 นั้นมีแนวทางที่ตรงข้ามกัน ได้แก่ ผู้บริหารตามแนวคิดแบบตะวันตกเน้นการมีอำนาจและวิสัยทัศน์ เป็นการบริหารแบบแยกส่วนและให้ความสำคัญเรื่องระบบงานตามหลักวิทยาศาสตร์ และมุ่งการเติบโตขององค์กรแบบก้าวกระโดด ส่วนผู้บริหารแบบตะวันออกมักมองการทำงานแบบองค์รวม ยึดค่านิยมทางสังคมเป็นบรรทัดฐาน เน้นระบบการทำงานแบบประนีประนอม และมุ่งให้ความสำคัญกับสมาชิกในองค์กร พร้อมกับการเจริญเติบโตขององค์กรอย่างยั่งยืนและมั่นคง
- ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกับพุทธปรัชญาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (The Philosophy of Sufficiency Economy and Buddhist Philosophy for Sustainable Development) โดย มนัสวี ศรีนนท์ และ พระมหามฆวินทร์ ปุริสุตฺตโม ผลการศึกษา พบว่า ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนั้นเป็นการนำเสนอถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี ส่วนพุทธปรัชญาที่เกี่ยวข้องกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง คือ สันโดษ 3 ได้แก่ ยถาลาภสันโดษ (ยินดีตามที่ได้) ยถาพลสันโดษ (ยินดีตามกำลัง) และ ยถาสารุปปสันโดษ (ยินดีตามสมควร) ฆราวาสธรรม 4 ได้แก่ สัจจะ (ความจริง) ทมะ (การฝึกฝน) ขันติ (ความอดทน) จาคะ (ความเสียสละ) เมื่อได้ดำเนินชีวิตตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและพุทธปรัชญาทั้ง 2 หลักดังกล่าวแล้ว ย่อมทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างแน่นอน
เผยแพร่แล้ว:
02/12/2022