ปัจจัยที่มีผลต่อการผลิตองุ่นรับประทานสด:การวิเคราะห์เบื้องต้น

ผู้แต่ง

  • ไพรัตน์ พรมชน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • พัฒนา สุขประเสริฐ คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • เฉลิมพล จตุพร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
  • กิตติพงศ์ กิตติวัฒน์โสภณ คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • สุวิสา พัฒนเกียรติ สำนักงานส่งเสริมและฝึกอบรม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

คำสำคัญ:

การผลิตองุ่นรับประทานสด, แบล็คโอปอร์, ไวท์มะละกา, การถดถอยพหุคูณ

บทคัดย่อ

การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อการผลิตองุ่นรับประทานสดในประเทศไทย โดยใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูลจากเกษตรกรผู้ปลูกองุ่นรับประทานสดและสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ร้อยละ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการถดถอยพหุคูณ ด้วยวิธีการขจัดตัวแปร ผลการศึกษา (1) ปัจจัยพื้นฐานส่วนบุคคล พบว่า เกษตรกรเป็นเพศชายร้อยละ 67.42 และเพศหญิงร้อยละ 32.58 อายุเฉลี่ย 46.93 ปี ประสบการณ์ปลูกองุ่นเฉลี่ย 10.16 ปี ส่วนใหญ่ได้รับการศึกษาในระดับประถมศึกษาร้อยละ 49.44 และปลูกองุ่นเป็นอาชีพหลักร้อยละ 84.27 (2) ปัจจัยทางเศรษฐกิจ พบว่า เกษตรกรมีปริมาณผลผลิตเฉลี่ย 33.74 ตันต่อปี รายได้จากการผลิตองุ่นเฉลี่ย 1,752,776.40 บาทต่อปี ต้นทุนการผลิตองุ่นเฉลี่ย 621,348.31 บาทต่อปี แรงงานจ้างรายวันเฉลี่ย 7.58 คน แรงงานจ้างรายเดือนเฉลี่ย 6.85 คน พื้นที่ปลูกองุ่นเฉลี่ย 10.22 ไร่ และเกษตรกรส่วนใหญ่มีน้ำเพียงพอต่อการปลูกองุ่นตลอดทั้งปีร้อยละ 67.42 คน นอกจากนี้ เกษตรกรบางส่วนมีหนี้สินครัวเรือนร้อยละ 37.08 โดยร้อยละ 90.91 ของเกษตรกรกลุ่มดังกล่าวมีหนี้สินครัวเรือนเพื่อการลงทุนด้านปัจจัยการผลิต (3) ปัจจัยทางสังคมพบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่ได้เข้าร่วมกลุ่มเกษตรกร ไม่ได้รับการส่งเสริมเกี่ยวกับการผลิตองุ่นและไม่ได้รับการฝึกอบรมเกี่ยวกับการผลิตองุ่น ร้อยละ 87.64 ร้อยละ 96.63 และร้อยละ 82.02 ตามลำดับ (4) ปัจจัยด้านเทคโนโลยีการผลิตองุ่น พบว่า เกษตรกรกลุ่มตัวอย่างปลูกองุ่นพันธุ์แบล็คโอปอร์ร้อยละ 50.56 และองุ่นพันธุ์ไวท์มะละกา รอยละ 49.44 เกษตรกรส่วนใหญ่นิยมค้างองุ่นในลักษณะรูปตัวยูคว่ำร้อยละ 71.91 มีการจัดการและตัดแต่งกิ่งองุ่นแบบดั่งเดิมร้อยละ 68.54 และ (5) ผลการวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณ พบว่า ปัจจัยที่มีผลต่อการผลิตองุ่นรับประทานสด ได้แก่ รายได้จากการผลิตองุ่น แรงงานจ้างรายวัน แรงงานจ้างรายเดือน พื้นที่ปลูกองุ่น และความพอเพียงของน้ำเพื่อการผลิตองุ่นตลอดทั้งปี

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2022-03-29