ปีที่ 3 ฉบับที่ 1 (2020): วารสารวิจัยธรรมศึกษา ปีที่ 3 ฉบับที่ 1 (มกราคม - มิถุนายน 2563)

วารสารวิจัยธรรมศึกษา

ปี พ.ศ. 2563 เป็นปีที่ 3 ในการจัดพิมพ์วารสารวิจัยธรรมศึกษา ศูนย์วิจัยธรรมศึกษา สำนักเรียนวัดอาวุธวิกสิตาราม ฉบับที่ 1 โดยกองบรรณาธิการดำเนินการให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน TCI ซึ่งมีการตรวจประเมินผลงานวิชาการอย่างรอบด้านจากผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายหน่วยงาน เป็นผลงานที่ไม่ละเมิดจริยธรรมทางวิชาการ มีการเชิญผู้ทรงคุณวุฒิ 2 รูป/คน ประเมิน 1 บทความ และผู้ทรงคุณวุฒิ 1 รูป/คน จะประเมินบทความได้เพียง 1 บทความเท่านั้นในวารสารแต่ละฉบับ เพื่อรักษามาตรฐานทางวิชาการ

วารสารวิจัยธรรมศึกษาฉบับนี้ได้นำเสนอผลงานของนักวิชาการจากหน่วยงานต่างๆ ที่น่าสนใจดังนี้

  1. วิเคราะห์ปรากฏการณ์วิทยาของฮุสเซิร์ล (Analyzing the phenomenology of Husserl) โดย พระจาตุรงค์ ชูศรี สรุปว่า เอดมุนด์ ฮุสเซิร์ล [Edmund Husserl] เป็นนักปรัชญาทางด้านปรากฏการณ์วิทยา โดยเสนอวิธีการหาความรู้แบบปรากฏการณ์วิทยา อยู่ที่การตั้งคำถามหรือชวนสงสัยกับสิ่งที่เราคุ้นเคย เคยชิน หรือยอมรับ ด้วยวิธีการใส่วงเล็บของอคติ [Bracketing] ต่อโลก ปรัชญาปรากฏการณ์วิทยาของ ฮุสเซิร์ลยังมุ่งการอธิบายเรื่องสำนึกว่าการสำนึกนั้นต้องสำนึกถึงอะไรบางอย่าง อย่างไรก็ตาม การสำนึกรู้นั้นทำให้แนวคิดของฮุสเซิร์ลมีท่าทีทำให้เกิดการปิดตัวเองอยู่ในโลกของมโนคติมาก  จนอาจปฏิเสธถึงความมีอยู่ของสิ่งภายนอกตัวของบุคคล เพราะสิ่งต่างๆ เป็นสิ่งที่มีอยู่ได้นั้นก็ล้วนต้องอิงอาศัยกันและกันตามเงื่อนไขของเวลาและสถานที่รวมทั้งบริบท(Context)
  2. การทำวิทยานิพนธ์อย่างมืออาชีพ : เนื้อหามีคุณภาพและอ้างอิงอย่างมีจรรยาบรรณ (Professional thesis: quality content and ethical references) โดย มนัสวี ศรีนนท์ และ พระมหามฆวินทร์ ปุริสุตฺตโม สรุปว่า การทำวิทยานิพนธ์หรือการทำวิจัยตามที่รู้จักกันโดยทั่วไปนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับการศึกษาของนักศึกษาและเป็นเรื่องการจัดการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพโดยสถาบันการศึกษา ทั้งนี้ วิทยานิพนธ์หรืองานวิจัยที่นักศึกษาทำจะจัดว่าเป็นงานที่มีคุณภาพได้นั้น นักศึกษาจะต้องสนใจใคร่รู้ต่อเนื้อหาวิชาที่เกี่ยวข้องกับประเด็นของวิทยานิพนธ์หรืองานวิจัยเป็นเบื้องต้น ตลอดจนนักศึกษาต้องมีจรรยาบรรณต่อการทำวิจัยในมนุษย์ด้วย เพราะหากการดำเนินการทำวิทยานิพนธ์โดยปราศจากกระบวนการดังกล่าวแล้ว วิทยานิพนธ์ที่จัดทำขึ้นย่อมเป็นผลงานที่ละเมิดคุณธรรมจริยธรรมได้ ดังนั้น วิทยานิพนธ์จะมีคุณภาพและมีจรรยาบรรณได้ นักศึกษาจะต้องทำวิทยานิพนธ์ให้ถูกต้องตามหลักวิชาการและมีกระบวนการวิจัยที่ไม่ละเมิดจริยธรรมวิจัยในมนุษย์
  3. การนำนโยบายไปปฏิบัติ (Policy implementation) โดย จักรี ศรีจารุเมธีญาณ และ ชุติมา ศรีจารุเมธีญาณ สรุปว่า ปัญหาเกี่ยวกับการนำนโยบายไปปฏิบัตินั้นสัมพันธ์กับปัจจัยต่างๆมากมายอย่างแยกไม่ออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่งผลต่อความสำเร็จและความล้มเหลวของนโยบายด้วย การจะบอกว่านโยบายหนึ่งๆ มีปัญหาตอนนำไปปฏิบัติหรือไม่ ถ้ามีปัญหานั้นมีอย่างไร ไม่สามารถอธิบายได้ในลักษณะเดียว แต่ต้องพิจารณาเป็นรายกรณี ประกอบกับความเข้าใจในแนวคิดและกระบวนนโยบาย ตลอดจนโครงสร้างการบริหารงานภาครัฐเป็นอย่างดี
  4. การพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาประวัติศาสตร์ เรื่อง พัฒนาการของอาณาจักรอยุธยา โดยใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบวัฎจักรการเรียนรู้ (4 MAT) สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 (THE LEARNING DEVELOPMENT ON ACHIEVEMENT IN HISTORY OF THE AYUTTHAYA KINGDOM BY USING CYCLE MODEL LEARNING (4 MAT) FOR MATTHAYOM 2 STUDENTS) โดย ชัยรัตน์ ตั๋นสกุล วีระ วงศ์สรรค์ และ รสรินทร์ อรอมรรัตน์ ผลการวิจัย พบว่า (1) ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาประวัติศาสตร์โดยใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบวัฎจักรการเรียนรู้ (4MAT) สูงกว่านักเรียนที่ใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบปกติ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 และ (2) นักเรียนที่ได้รับการจัดการเรียนรู้แบบวัฎจักรการเรียนรู้ (4MAT) วิชาประวัติศาสตร์ เรื่อง พัฒนาการของอาณาจักรอยุธยา นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2โดยภาพรวมมีความพึงพอใจ อยู่ในระดับมากที่สุด
  5. การพัฒนาความสามารถทางการเรียนวิชาวัดละเอียดด้วยเทคนิคการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือโดยวิธีแบ่งกลุ่มตามผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน (STAD) (Learning Achievement in Detailed Measurement Course Using STAD Cooperative Learning Technique) โดย อุทัย ซุ่นใช้ วีระ วงศ์สรรค์ และ ธนาดล สมบูรณ์ ผลการวิจัย พบว่า 1. นักเรียนกลุ่มที่ได้รับการจัดการเรียนรู้ด้วยเทคนิคจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ โดยวิธีแบ่งกลุ่มตามผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน (STAD) มีคะแนนเฉลี่ยความสามารถทางการเรียนมากกว่านักเรียนกลุ่มที่ได้รับการจัดการเรียนรู้แบบปกติ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 2. นักเรียนกลุ่มที่ได้รับการจัดการเรียนรู้ด้วยเทคนิคจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ โดยวิธีแบ่งกลุ่มตามผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน (STAD) มีคะแนนเฉลี่ยความพึงพอใจมากกว่านักเรียนกลุ่มที่ได้รับการจัดการเรียนรู้แบบปกติ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
เผยแพร่แล้ว: 06/20/2020

บทความวิชาการ